1

JusThat

ลาออก เลิกจ้าง
อย่างไร ให้ถูกต้องตามแบบของกฎหมาย

การลาออกจากงาน เลิกจ้างลูกจ้าง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เป็นปกติในชีวิตการทำงานทำงานอยู่แล้ว แต่ไม่ว่าเหตุผลในการลาออกหรือเลิกจ้างจะเป็นอะไร ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างก็ต้องทำการเลิกสัญญากันให้ถูกต้องตามแบบของกฎหมาย ซึ่งมีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17

การลาออก เลิกจ้างต้องทำอย่างไร บอกเลิกสัญญากันได้ตอนไหน ถ้าทำไม่ถูกต้องจะมีผลตามมายังไง บทความนี้ JusThat มีคำตอบ

ลูกจ้าง คือใคร

ก่อนจะเข้าเรื่องการเลิกจ้างและลาออก เราต้องมาทำความเข้าใจกับคำว่า “ลูกจ้าง” กันก่อน 

ลูกจ้าง คือ บุคคลซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร

แปลว่า ถ้าบุคคลนั้นเป็นลูกจ้างแล้ว ไม่ว่าฝั่งนายจ้างจะเรียกเขาว่า ฟรีแลนซ์ พนักงานรายวัน ผู้รับจ้าง พนักงานชั่วคราว พนักงานพาร์ทไทม์ ลูกจ้างประจำ หรือเรียกชื่อว่าอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าบุคคลนั้นอยู่ภายใต้สัญญาจ้างแรงงาน เขาก็จะเป็นลูกจ้างซึ่งได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานอย่างเท่าเทียมกัน

การจ้างแรงงาน คือ การจ้างงานอันอยู่ภายใต้สัญญาจ้างแรงงาน ไม่ว่าสัญญานั้นจะทำขึ้นมาเป็นหนังสือ หรือตกลงกันแบบปากเปล่าก็ถือว่าเป็นสัญญาจ้างแรงงาน โดยลูกจ้างตกลงทำงานให้นายจ้าง และนายจ้างตกลงจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตลอดระยะเวลาการทำงาน

อย่างไรก็ตาม การจ้างฟรีแลนซ์(จ้างทำของ)แบบจ้างเหมาบริการก็อาจมีการจ่ายเงินให้กันตลอดระยะเวลาการทำงานเหมือนกัน หรือการจ้างลูกจ้างก็อาจมีการจ่ายค่าจ้างตามความสำเร็จของงานเหมือนกัน หรือที่เรียกว่า “ค่าจ้างตามผลงาน” ดังนั้น อีกข้อสังเกตที่จะทำให้แยกสัญญาจ้างแรงงานกับสัญญาจ้างทำของออกจากกันได้ คือ อำนาจบังคับบัญชา

สัญญาจ้างแรงงาน นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาลูกจ้าง มีกำหนดระเบียบข้อบังคับ การลงโทษกรณีทำความผิดต่าง ๆ กำหนดเวลาเข้าออกงาน 

สัญญาจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจบังคับบัญชาผู้รับจ้าง แต่ผู้รับจ้างต้องส่งมอบงานให้แล้วเสร็จตามกำหนด และรับค่าจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานนั้น

Facebook
Twitter
LinkedIn

ลูกจ้างลาออก นายจ้างเลิกจ้าง ต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากันให้ถูกต้อง

ไม่ว่าจะเป็นการลาออกหรือเลิกจ้าง ทั้งสองอย่างนี้ต่างก็เป็นการเลิกสัญญาเหมือนกัน เพียงแต่ต่างกันตรงที่การลาออกเป็นการเลิกสัญญาโดยลูกจ้าง และการเลิกจ้างเป็นการเลิกสัญญาโดยนายจ้าง

ในสัญญาไม่มีกำหนดระยะเวลา เมื่อมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการเลิกสัญญากัน ฝ่ายนั้นก็สามารถบอกเลิกสัญญาได้เลยฝ่ายเดียว เพราะการเลิกสัญญาเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว 

เมื่อลูกจ้างแสดงเจตนาลาออก หรือนายจ้างแสดงเจตนาเลิกจ้างแล้ว การเลิกสัญญานั้นจะมีผลใช้บังคับได้ทันที และจะถอนการแสดงเจตนาไม่ได้ตาม ป.พ.พ. ม.386 แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามแบบของกฎหมาย คือ ต้องมีการบอกกล่าวกันล่วงหน้าภายในกำหนดการจ่ายค่าจ้างครั้งที่จะถึง เพื่อให้มีผลเลิกสัญญากันในวันกำหนดจ่ายค่าจ้างครั้งถัดไป แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวกันล่วงหน้าเกิน 3 เดือน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง

แปลว่า ถ้าลูกจ้างต้องการลาออกให้เร็วที่สุด โดยมีกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ลูกจ้างจะต้องแสดงเจตนาลาออกจากงานต่อนายจ้างภายในสิ้นเดือนนี้ และกำหนดออกจากงานในวันสิ้นเดือนหน้า หรือนายจ้างต้องการเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่ได้ทำความผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 นายจ้างก็จะต้องบอกเลิกจ้างภายในวันจ่ายค่าจ้างครั้งที่จะถึง และให้ลูกจ้างออกจากงานในวันจ่ายค่าจ้างครั้งถัดไปเช่นกัน และเมื่อบอกลาออก หรือบอกเลิกจ้างแล้วการสิ้นสุดสัญญาก็จะมีผลไปตามการบอกเลิกสัญญานั้น

ตัวอย่าง A ไม่พอใจหัวหน้างานและบอกลาออกในไลน์กลุ่มที่มีนายจ้างอยู่ด้วย โดย A จะออกจากงานในวันถัดไปและจะเคลียร์งานเอาไว้ให้ก่อนออก การแสดงเจตนาแบบนี้ถือว่า A ได้มีการบอกเลิกสัญญาและการบอกเลิกสัญญานั้นมีผลบังคับใช้ได้ทันที ซึ่งสถานะลูกจ้างของ A จะสิ้นสุดในวันถัดไปตามที่ A ได้บอกเลิกสัญญาไว้

แต่ถ้า A เกิดเปลี่ยนใจไม่อยากออกจากงานแล้ว และถอนการแสดงเจตนาเพื่อทำงานที่เดิมต่อไป กรณี A จะต้องได้รับความยินยอมจากนายจ้างด้วย การถอนการแสดงเจตนานั้นจึงจะมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ และ A จะได้ทำงานที่เดิมต่อไป

ลาออก เลิกจ้าง ไม่ถูกต้องตามแบบของกฎหมายจะมีผลอย่างไร

ลูกจ้างลาออกไม่ถูกต้อง ไม่มีการบอกล่าวกันล่วงหน้า ลาออกกะทันหัน บอกแล้วไปเลย ไม่เผื่อเวลา ไม่เคลียร์งานให้นายจ้าง จนนายจ้างได้รับความเสียหาย นายจ้างสามารถฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากลูกจ้างได้ โดยนายจ้างต้องนำสืบพยานพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า นายจ้างได้รับความเสียหายจริง คิดเป็นเงินจำนวนเท่าใด หากนายจ้างสามารถพิสูจน์ได้ ศาลจึงจะสั่งให้ลูกจ้างชดใช้ค่าเสียหายให้นายจ้าง

นายจ้างเลิกจ้างไม่ถูกต้อง เลิกจ้างกะทันหัน ไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า บอกวันนี้และให้ออกจากงานทันที โดยลูกจ้างไม่ทันตั้งตัวและไม่ได้ทำความผิดใด ๆ ต่อนายจ้าง ไม่มีการทำความผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 กรณีนี้นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้าง โดยจ่ายให้ลูกจ้างในวันทำงานวันสุดท้าย พร้อมจ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด เงินที่เกิดจากการทำงานให้ลูกจ้างภายใน 3 วันนับแต่วันเลิกจ้าง(วันที่ออกจากงาน)

ส่วนเงินค่าชดเชย(ทำงานติดต่อกันครบ 120 วันขึ้นไป)และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เป็นเงินที่เกิดจากการเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิดเช่นกัน แต่ไม่ใช่เงินที่เกิดจากการเลิกจ้างกะทันหัน 

แปลว่า แม้นายจ้างจ่ายเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างแล้ว ลูกจ้างก็ยังมีสิทธิ์เรียกเอาค่าชดเชยได้ ถ้าลักษณะงานที่ทำ การเลิกจ้าง และระยะเวลาการทำงานนั้นเข้าหลักเกณท์ที่ต้องได้รับค่าชดเชย หรือลูกจ้างอาจเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจากนายจ้างได้ กรณีการเลิกจ้างนั้นไม่มีเหตุผลอันสมควร เลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ไม่หย่อนสมรรถภาพในการทำงาน 

นายจ้างไม่จ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ลูกจ้างสามารถเรียกร้องได้โดยการส่งโนติสเพื่อทวงถามไปยังนายจ้างได้ แต่ถ้าทวงถามแล้วนายจ้างยังเพิกเฉย ลูกจ้างก็สามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ โดยร้องเรียนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือจะใช้วิธียื่นฟ้องคดีแพ่งต่อศาลแรงงานเพื่อเรียกเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยก็ได้เช่นกัน แต่ต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งจะใช้สิทธิ 2 ทางพร้อมกันไม่ได้ 

รู้หรือไม่?! คดีแบบนี้ฟ้องศาลด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องจ้างทนาย!
JusThat บริการฟ้องด้วยตัวเอง 
ค่าบริการปรึกษาเริ่มต้น 1,500 บาท 
ประหยัดค่าทนายความได้หลายหมื่นบาท

  1. แอดไลน์ @justhatapp
  2. เช็คโอกาสชนะและค่าใช้จ่าย
  3. หากต้องการ ส่งฟ้องได้ทันที
Line-Chat-Portrait

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท ตั้งแต่คลอดออกมาและอยู่รอดเป็นทารก คนคนนั้นจะมีสภาพเป็นบุคคล เมื่อมีสภาพบุคคลแล้วจะมีกองทรัพย์

Read More »

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าคุณได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นพยานศาล JusThat ได้นำข้อมูล หลักการปฏิบัติตัวในฐานะพยานศ

Read More »

รับช่วงสิทธิ คืออะไร

รับช่วงสิทธิ คืออะไร รับช่วงสิทธิ คืออะไร มีความสัมพันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างไร JusThat จะพาไปหาคำตอบและทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้เลย

Read More »