1

JusThat

ร้องเรียน สคบ.
ทำยังไงให้สำเร็จ

อยากร้องเรียน สคบ. แต่ไม่รู้ว่าต้องเริ่มยังไง ตรงไหน ต้องเตรียมอะไรบ้าง และไปร้องเรียนที่ไหน เพื่อน ๆ กำลังพบปัญหานี้อยู่หรือเปล่า แต่ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะ JusThat ได้รวบรวมข้อมูลที่จำเป็นในการร้องเรียน สคบ.มาไว้ที่นี่แล้ว

  • เรื่องอะไรบ้างที่ร้องเรียน สคบ. ได้และไม่ได้
  • ร้องเรียนได้ที่ไหน
  • ต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง
  • มีขั้นตอนยังไง
  • ร้องเรียนเสร็จแล้วต้องทำยังไงต่อ
  • ถ้าร้องเรียนไม่สำเร็จ จะมีทางเลือกอะไรบ้าง

เพื่อให้เพื่อน ๆ ทุกคนสามารถหาข้อมูลและนำไปใช้ในการดำเนินการได้ จะมีอะไรบ้างอ่านต่อด้านล่างได้เลย

ร้องเรียน สคบ.
เรื่องอะไรได้บ้าง

ก่อนอื่นเราต้องมาทำรู้จัก สคบ. กันก่อน เพื่อให้เข้าใจถึงการทำงานของหน่วยงานว่า สคบ. ช่วยอะไรเราได้บ้าง และคดีที่ สคบ. มีอำหนาจหน้าที่รับผิดชอบและดำเนินการ เพราะไม่ใช่ทุกคดีที่ร้องเรียนไปแล้ว สคบ. จะดำเนินการให้เราได้

สคบ. ย่อมาจาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ภาษาอังกฤษ OCPB หรือ Office of the Consumer Protection Board มีสถานะเป็นกรมสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลสิทธิและคุ้มครองผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522

และเรื่องที่เราจะนำไปร้องเรียน สคบ. เพื่อให้ สคบ.ดำเนินการไกล่เกลี่ยหรือดำเนินคดีแทนเราได้ ต้องเป็นเรื่องระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจเท่านั้น เช่น ซื้อของออนไลน์ได้ของไม่ตรงปก โดนผู้รับเหมาทิ้งงาน เช่าบ้าน คอนโดแล้วโดนเอาเปรียบ คลินิกเสริมความงามหลอกขายคอร์สราคาแพง เป็นต้น โดย สคบ. มีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีแทนผู้บริโภคได้ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา

  • เราต้องเป็นผู้บริโภคตามกฎหมาย คือ ต้องเป็นคนซื้อ รับบริการ หรือได้รับการเสนอ ชักชวนให้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการ รวมถึงคนที่ใช้สินค้าและรับบริการ โดยที่ตัวเองไม่ได้จ่ายเงินเองด้วย เช่น ไปกินข้าวที่ร้านอาหารกับเพื่อนแต่เพื่อนเป็นคนจ่าย เราก็ถือเป็นผู้บริโภคด้วย
  • มีการละเมิดผู้บริโภค เช่น เอาเปรียบโก่งราคา ขายคอร์สออกกำลังกายให้แล้วใช้บริการไม่ได้ มีการโฆษณาเกินจริง เป็นต้น
  • ผลการดำเนินคดีจะเป็นผลประโยชน์กับผู้บริโภคโดยรวม

ร้องเรียน สคบ.
เรื่องเหล่านี้ไม่ได้

ก่อนที่จะร้องเรียนเราต้องเช็กตัวเองด้วยนะว่าเราทำสิ่งเหล่านี้ไปแล้วหรือไม่ หากทำไปแล้วจะกลายเป็นเรื่องที่ สคบ. ดำเนินคดีให้เราไม่ได้นะ

  • มีการนำเรื่องนั้นไปฟ้องศาลแล้ว หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
  • มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาแล้ว
  • เป็นเรื่องที่อยู่ในกระบวนการล้มละลาย
  • เป็นเรื่องที่หมดอายุความแล้ว
  • เคยร้องเรียนแล้วและ สคบ. เคยเรียกตัวเราไปชี้แจงแล้ว แต่เราไม่ยอมไปและไม่ยอมส่งเอกสารไปชี้แจงให้ สคบ. ทราบ

และนอกจาก สคบ. แล้วยังมีหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจ หน้าที่ในการกำกับดูแลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคด้วยเช่นกัน หากเราได้รับความเดือดร้อนจากเรื่องต่อไปนี้ เราจะต้องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ เพราะ สคบ. ดำเนินคดีให้ไม่ได้

  • ประกันภัย เช่น เคลมประกันไม่ได้ เอารถเข้าอู่แล้วซ่อมไม่ได้มาตราฐาน สร้างความเสียหาย จ่ายค่าประกันแล้วบริษัทยกเลิกสัญไม่บอกล่วงหน้า เป็นต้น หากเราเจอปัญหาก็สามารถร้องเรียนไปที่ OIC (Office of insurance commission) หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) หรือโทรสายด่วน คปภ. 1186 ได้เลย 
  • ค่ายโทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต เช่น สัญญานไม่ดี สัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่มีคุณภาพ ถูกเรียกเก็บเงินจาก SMS ที่ไม่รู้จัก กรณนี้เราสามารถร้องเรียนไปที่ NBTC (The National Broadcasting and Telecommunication Commission) หรือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือโทรสายด่วน กสทช. 1200 ได้เลย

ร้องเรียน สคบ.
ได้ที่ไหน

ทุกวันนี้เราสามาถร้องเรียน สคบ. จากที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปร้องเรียนด้วยตัวเองเสมอไปนะ เพราะเราสามารถร้องเรียนผ่านการส่งไปรษณีย์ หรือจะร้องเรียน สคบ. ออนไลน์ก็ทำได้

  1. เดินทางไปร้องเรียนด้วยตัวเองที่ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบล ที่ว่าการกรุงเทพและเมืองพัทยา
  2. เดินทางไปร้องเรียนด้วยตัวเองที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ผู้บริโภค อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 1 (ฝั่งทิศใต้) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
  3. ส่งจดหมายร้องเรียนทางไปรษณีย์ไปที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ตั้ง 120 อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
  4. ร้องเรียน สคบ. ออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ OCPB ของ สคบ.โดยตรง หรือคลิกลิงก์  https://complaint.ocpb.go.th
  5. ร้องเรียนผ่านแอพพลิเคชั่น OCPB Connect

นอกจากนี้หากเพื่อน ๆ ต้องการสอบถามข้อมูลหรือปรึกษา สคบ. ก็สามารถโทรสายด่วน สคบ. 1166 ในวันและเวลาราชการ หรือส่งอีเมลไปที่ [email protected]. ได้เช่นกัน

ร้องเรียน สคบ.
ต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง

การร้องเรียน สคบ. เราต้องเตรียมเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วน และเรียบเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ละเอียด ถูกต้อง ครบถ้วน และชัดเจน เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบและรับเรื่องร้องเรียน หากเราไม่ระบุรายละเอียดให้ชัดเจนก็อาจทำให้เราร้องเรียนไม่สำเร็จได้นะ

โดยใช้แบบฟอร์มร้องเรียน สคบ. หรือติดต่อขอรับแบบฟอร์มฟรีได้ที่ เซเว่น อีเลฟเว่น ทุกสาขา หรือหากไม่สะดวกพริ้นต์แบบฟอร์มหรือไปรับ ก็สามารถเขียนเป็นจดหมายธรรมดาได้ โดยระบุข้อมูลให้ละเอียด ดังนี้

  1. ชื่อ นามสกุล 
  2. เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน หรือหมายเลขหนังสือเดินทาง
  3. ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล
  4. อาชีพ
  5. หรือกรณีรับมอบอำนาจมาจากบุคคลอื่น ก็ต้องระบุด้วยนะว่าได้รับมอบอำนาจมาจากใคร ใครเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินการแทน
  6. ชื่อสถานประกอบการที่ทำให้เกิดความเสียหาย
  7. เป็นนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา โดยเช็คข้อมูลนิติบุคคลได้ที่นี่ แหล่งค้นข้อมูลนิติบุคคล
  8. ที่อยู่ เบอร์โทร อีเมลของสถานประกอบการที่ต้องการร้องเรียน

พร้อมระบุรายละเอียดให้ชัดเจนว่า ได้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการอะไร กับใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร และระบุสิ่งที่เราต้องให้ชัดเจน พร้อมแนบเอกสารหลักฐาน ดังนี้

  1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทาง พร้อมเซ็นสำเนาถูกต้อง
  2. หนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหาย กรณีรับมอบอำนาจมาจากบุคคลอื่น
  3. สำเนาหนังสือสัญญา หรือ
  4. ใบเสร็จรับเงิน หรือ
  5. หลักฐานการชำระเงิน หรือสลิปโอนเงิน 
  6. ภาพถ่าย หรือ คลิปวิดีโอ ถ้ามีก็แนบไปได้
  7. หลักฐานการคุยแชท เราก็สามารถพริ้นต์ออกมาและแนบไปได้นะ
  8. ภาพหน้าเว็บไซต์ Facebook ประกาศขายสินค้า บริการของร้านค้าหรือผู้ให้บริการ
  9. หลักฐานและเอกสาร อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการร้องเรียน สคบ. ออนไลน์ เราต้องเตรียมเอกสาร หลักฐานตามด้านบนเช่นกัน แต่ต้องทำเป็นไฟล์ PDF. หรือไฟล์ภาพ เพื่อให้สะดวกต่อการแนบไฟล์และนำไปดำเนินการต่อได้ง่าย และอย่าลืมรับรองสำเนาถูกต้องในเอกสารด้วยนะ

ร้องเรียน สคบ.
มีขั้นตอนยังไง

หลังจากที่เราเตรียมเอกสารและพยานหลักฐานเรียบร้อยแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนของการร้องเรียนที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินคดีผ่าน สคบ.

เดินทางไปร้องเรียนด้วยตัวเอง 

เมื่อไปถึงให้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่ามาร้องเรียนเรื่องอะไร และต้องไปในวันและเวลาราชการเท่านั้นนะ เจ้าหน้าที่จะให้กรอกแบบฟอร์ม แต่ถ้าเราเตรียมและกรอกข้อมูลไปเรียบร้อยแล้วก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้เลย หากเจ้าหน้าที่ซักถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เล่าทุกอย่างไปตามความเป็นจริง และก่อนลงชื่อรับรองเอกสารใด ๆ เราต้องตรวจสอบความถูกต้องทุกครั้ง หากมีอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงตามความเป็นจริง เราต้องแจ้งให้เจ้าหน้าทราบหรือทำการแก้ไขให้ถูกต้องก่อนแล้วค่อยลงลายมือชื่อ และอย่าลืมถามเลขรับแจ้งเพื่อใช้ในการติดตามคดีด้วยนะ

ถ้าหากเป็นผู้รับมอบอำนาจเดินทางไปร้องเรียน ก็อย่าลืมนำหนังสือมอบอำนาจพร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่เซ็นสำเนาถูกต้องแล้วไปด้วยนะ

ส่งจดหมายร้องเรียนทางไปรษณีย์ตอบรับ

วิธีนี้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยประหยัดเวลาและค่าเดินทางได้ โดยจัดเตรียมเอกสาร หลักฐาน และแบบฟอร์มร้องทุกข์ หรือจดหมายร้องทุกข์ให้เรียบร้อย จากนั้นก็ไปที่ทำการไปรษณีย์ไทยเพราะที่นี่มีบริการไปรษณีย์ตอบรับ โดยสามารถเลือกส่งได้ทั้งแบบ EMS หรือแบบลงทะเบียนธรรมดา หากเราไม่รู้ว่าใบตอบรับอยู่ตรงไหนก็สามารถถามเจ้าหน้าที่ได้

โดยส่งไปที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ตั้ง 120 อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 

จากนั้นพนักงานไปรษณีย์ก็จะนำจดหมายไปส่งยังปลายทาง และนำใบตอบรับกลับมาส่งให้เราถึงหน้าบ้าน และควรเก็บใบตอบรับนี้เอาไว้ให้ดีนะ เพราะสามารถใช้ใบตอบรับยืนยันการร้องเรียนได้ ว่าส่งไปเมื่อไหร่และเอกสารไปถึงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตอนไหน

ร้องเรียน สคบ. ออนไลน์ 

วิธีนี้ก็สะดวกและง่ายมาก ๆ เพราะสามารถทำได้ทุกที่ แค่มีอินเตอร์เน็ตและเตรียมไฟล์เอกสาร หลักฐานให้เรียบร้อย โดยเข้าไปร้องเรียนได้ที่เว็บไซต์ https://complaint.ocpb.go.th แต่ถ้าใครไม่สะดวกเข้าใช้เว็บไซต์ก็สามารถร้องเรียนผ่านแอพพลิเคชั่น OCPB Connect ได้นะ โดยเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ Play Store หรือ App Store และทำตามขั้นตอนนี้

  1. ระบุเรื่องที่ต้องการร้องเรียน
  2. ระบุชื่อสถานประกอบการ รายละเอียด ที่อยู่ ข้อมูลติดต่อ เช่น เบอร์โทร อีเมล Line Facebook เว็บไซต์ ของสถานประกอบการที่เราต้องการร้องเรียน
  3. ระบุรายละเอียดของสิ่งที่เกิดขึ้นให้ถูกต้อง ครบถ้วน ชัดเจน เหตุเกิดเมื่อไหร่ ที่ไหน ใครเกี่ยวข้องบ้าง ชำระเงินยังไง เกิดอะไรขึ้นบ้าง
  4. ยอมรับเงื่อนไขและกดถัดไป
  5. ระบบจะให้เรากรอกข้อมูลของเรา โดยต้องทำการ Login เข้าสู่ระบบก่อน แต่ถ้ายังไม่เคยใช้งานเราต้องกดลงทะเบียนให้เรียบร้อยก่อนนะ
  6. หลังจากเข้าระบบแล้วให้เราเลือกว่าต้องการไกล่เกลี่ยออนไลน์หรือไม่
  7. จากนั้นให้กรอกข้อมูลเพิ่มเติมและความต้องการให้เรียบร้อย 
  8. ตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียด ถูกต้อง ก่อนยืนยันข้อมูล
  9. แนบไฟล์เอกสาร หลักฐานประกอบการดำเนินคดีให้เรียบร้อย หากเราไม่แนบระบบจะยังไม่รับเรื่องร้องเรียน
  10. จากนั้นเราจะได้รับเลขรับแจ้ง เพื่อใช้ในการติดตามสถานะคำร้องทุกข์
  11. เราสามารถติดตามสถานะคำร้องได้ โดยกดไปที่ 5 ขีด ขวามือด้านบน และเลือกติดตามเรื่องร้องเรียน

ร้องเรียน สคบ.
เสร็จแล้ว ต้องทำยังไงต่อ

การร้องเรียนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการดำเนินคดีเท่านั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ผู้บริโภคได้รับเอกสารและหลักฐานจากเราแล้ว เอกสารและหลักฐานจะถูกส่งไปที่ฝ่ายคัดกรอง เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนตรวจสอบเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง

กรณีเอกสาร หลักฐานครบ เจ้าหน้าที่จะจัดส่งเรื่องร้องเรียนให้หน่วยงานต่าง ๆ ภายใน สคบ. ตามเรื่องที่แต่ละหน่วยงานดูแลรับผิดชอบเพื่อดำเนินการต่อไป

กรณีเอกสาร หลักฐานไม่ครบ เจ้าหน้าที่ฝ่ายคัดกรองจะส่งหนังสือขอเอกสารเพิ่มเติมที่ผ่านการอนุมัติจาก ผอ.ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ผู้บริโภคมาให้ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับเอกสารและหลักฐานเพิ่มเติมแล้ว ก็จะมีการจัดส่งเรื่องร้องเรียนให้หน่วยงานต่าง ๆ ภายใน สคบ. ตามเรื่องที่แต่ละหน่วยงานดูแลรับผิดชอบ ซึ่งเราจะต้องส่งเอกสาร หลักฐานไปให้เจ้าหน้าที่ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากไม่ส่งไปภายในเวลาที่กำหนดการดำเนินการก็จะสิ้นสุดลง

กรณีเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในความรับผิดของ สคบ. เจ้าหน้าที่ฝ่ายคัดกรองจะทำหนังสือขอส่งเรื่องร้องเรียนไปหน่วยงานอื่น และทำหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องเรียนทราบ แต่ก็ไม่ใช่ว่าอยากส่งก็ส่งได้ง่าย ๆ นะ ต้องมีการเสนอให้ผอ.ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ผู้บริโภคพิจารณาก่อน 

  • อนุมัติ เจ้าหน้าที่จะส่งเรื่องร้องเรียนไปหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่รับผิดชอบ และจะส่งหนังสือมาแจ้งให้ผู้ร้องเรียนทราบด้วย โดยหน่วยงานปลายทางจะรับเรื่องร้องทุกข์ไปดูแลต่อ
  • ไม่อนุมัติ เจ้าหน้าที่จะต้องนำเรื่องร้องเรียนไปดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

กรณีไม่เป็นผู้บริโภค

เจ้าหน้าที่ฝ่ายคัดกรองจะส่งหนังสือไปที่กองกฎหมายและคดีเพื่อตรวจสอบ โดยเสนอให้ผอ.ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ผู้บริโภคพิจารณาก่อน หากผู้อำนวยการศูนย์ไม่อนุมัติเจ้าหน้าที่ฝ่ายคัดกรองก็จะต้องนำเรื่องร้องเรียนไปดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป แต่หากอนุมัติให้ส่ง ก็จะเป็นหน้าที่ของนิติกรกองกฎหมายและคดี ที่ต้องตรวจสอบและแจ้งผลกลับไปที่ฝ่ายคัดกรอง

หากผลออกมาว่าไม่เป็นผู้บริโภคตามมาตรา 3 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 เจ้าหน้าที่ฝ่ายคัดกรองต้องทำหนังสือเสนอให้ผอ.ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ผู้บริโภค พิจารณายุติเรื่องร้องเรียนตามระเบียบ 

  • อนุมัติ เจ้าหน้าที่จะส่งหนังสือมาแจ้งให้ผู้ร้องเรียนทราบ
  • ไม่อนุมัติ เจ้าหน้าที่ก็จะต้องนำเรื่องร้องเรียนไปดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ดังนั้น เมื่อร้องเรียนไปแล้วต้องคอยติดตามความคืบหน้าอยู่เสมอ เพราะการติดตามคดีจะเป็นผลดีกับตัวผู้เสียหายเอง หากได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ สคบ.ให้ไปไกล่เกลี่ย หรือเข้าไกล่เกลี่ยออนไลน์ หรือให้ไปชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นก็ต้องไปตามนัดนะ แต่หากไม่สะดวกก็ต้องชี้แจงให้ สคบ. ทราบว่าไปไม่ได้เพราะอะไร แต่ต้องมีเหตุผลที่เพียงพอด้วยนะ เช่น เข้าโรงพยาบาลไม่สามารถเดินทางได้ เจ็บป่วยจนไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ เป็นต้น

ร้องเรียน สคบ.
ไม่สำเร็จ ทำยังไงดี

หากได้รับการปฎิเสธจาก สคบ. เพราะไม่ใช่ผู้บริโภคหรือเหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้ สคบ. ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ ทำให้เราต้องมาฟ้องศาลด้วยตัวเอง เพื่อน ๆ ก็อย่าเพิ่งถอดใจไปก่อนนะ เพราะที่นี่เรามีบริการของ JusThat ที่จะช่วยให้เพื่อน ๆ สามารถฟ้องศาลด้วยตัวเองได้อย่างง่ายดาย

รู้หรือไม่?! คดีเล็ก ไม่ซับซ้อน คุณสามารถฟ้องศาลด้วยตัวเองได้!
JusThat บริการฟ้องด้วยตัวเอง
ค่าปรึกษาเริ่มต้น 1,500 บาท
ประหยัดค่าทนายความได้หลายหมื่นบาท

แต่ถ้าเป็นคดีที่มีรายละเอียดเยอะและซับซ้อน
เราแนะนำให้เลือกใช้ทนายความที่มีประสบการณ์
หมดกังวลปัญหาทนายความทิ้งคดี
เช็คค่าใช้จ่ายได้ตั้งแต่ต้นจนจบโดย JusThat 

  1. แอดไลน์ @justhatapp
  2. เช็คโอกาสชนะและค่าใช้จ่าย
  3. หากต้องการ ส่งฟ้องได้ทันที
Line-Chat-Portrait

JusThat – รู้โอกาสแพ้ชนะ
ฟ้องแล้วคุ้ม? ภายใน 5 นาที

1

Bangkok, Thailand 
Line @justhatapp