1

JusThat

ถูกเลิกจ้าง
ต้องได้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน
1 ในความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน

ถูกให้ออกจากงานกะทันหัน ต้องได้ค่าตกใจ (ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า) 1 เดือน

หนึ่งในความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิทธิของแรงงาน

เพราะที่จริงแล้วลูกจ้างอาจได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามากกว่า 1 เดือน หรือน้อยกว่า 1 เดือนก็ได้

ขึ้นอยู่กับว่านายจ้างบอกเลิกจ้างและให้ลูกจ้างออกจากงานในวันไหน

บทความความนี้ JusThat จะพาทุกคนไปเจาะลึกเกี่ยวค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หากถูกนายจ้างเลิกจ้าง ลูกจ้างต้องได้รับค่าบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างไร วิธีคำนวณค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และมีกฎหมายข้อไหนที่เกี่ยวข้องกับค่าบอกกล่าวล่วงหน้าบ้าง 

Facebook
Twitter
LinkedIn

ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า คืออะไร

ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า หรือในภาษาพูดที่หลายคนเรียกว่า “ค่าตกใจ” คือ เงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกจ้างและให้ลูกจ้างออกจากงานในทันที หรือให้ลูกจ้างออกงานก่อนที่จะถึงกำหนดวันจ่ายค่าจ้างครั้งถัดไป ไม่ว่าลูกจ้างคนนั้นจะเป็น ลูกจ้างทดลองงาน ลูกจ้างรายชั่วโมง ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างรายสัปดาห์ ลูกจ้างที่คำนวณค่าจ้างตามผลงาน หรือเป็นลูกจ้างรายเดือนก็ตาม 

เพราะตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรค 2 กำหนดให้นายจ้างจำเป็นต้องบอกเลิกจ้าง (บอกเลิกสัญญา) ลูกจ้างที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาจ้างไว้ภายในกำหนดจ่ายค่าจ้างครั้งที่จะถึง เพื่อให้มีผลเลิกสัญญากันในวันกำหนดจ่ายค่าจ้างครั้งถัดไป 

ถ้านายจ้างจะให้ลูกจ้างออกจากงานทันที หรือให้ลูกจ้างออกจากงานก่อนถึงวันเลิกสัญญามีผล นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างนับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างออกจากงานจนถึงวันที่การเลิกสัญญามีผล (กำหนดจ่ายค่าจ้างครั้งถัดไป) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรค 3

หรือในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างกะทันหันโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เช่น ทำงานอยู่ดีดีก็โดนไล่ออก บอกวันนี้ให้ออกวันนี้เลย ลูกจ้างก็ยังไม่ทันตั้งตัว ลูกจ้างต้องได้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้านับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างออกจากงานจนถึงวันที่การเลิกสัญญามีผล (กำหนดจ่ายค่าจ้างครั้งถัดไป) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17/1

ถูกเลิกจ้าง ไม่จำเป็นต้องได้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือนเสมอไป

จากตัวอย่างในหัวข้อก่อนหน้า คุณผู้อ่านจะเห็นว่าลูกจ้างมีสิทธิ์ได้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้ามากกว่า 1 เดือน หรือน้อยกว่า 1 เดือนก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่านายจ้างบอกเลิกจ้างวันไหน ให้ออกจากงานวันไหน และรอบการจ่ายค่าจ้างเป็นยังไง

ตัวอย่างที่ 1 จ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน 

นายจ้างเลิกจ้างวันที่ 15 และให้ออกจากงานทันทีในวันที่ 15 ลูกจ้างก็จะได้รับค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 – 15 ของเดือนนั้น และได้รับค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 16 – วันสิ้นเดือน รวมระยะเวลาที่ได้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าประมาณ 15 วัน หรือครึ่งเดือน

แต่ถ้ามีการบอกเลิกจ้างในวันที่ 3 และให้ออกจากงานวันที่ 7 นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างของวันที่ 1 – 7 ให้ลูกจ้าง และจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 8 – สิ้นเดือน รวมระยะเวลาที่ได้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าประมาณ 23 วัน ( 30 – 7 = 23 ) หรือเกือบ 1 เดือน

ตัวอย่างที่ 2 จ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน 

นายจ้างเลิกจ้างวันสิ้นเดือนนี้พอดี และให้ออกจากงานในวันที่ 15 ของเดือนหน้า ลูกจ้างก็จะได้รับค่าจ้างของวันที่ 1 – 15 ของเดือนหน้า และได้รับค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 16 – วันสิ้นเดือนของเดือนหน้า รวมระยะเวลาที่ได้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าประมาณ 15 วัน หรือครึ่งเดือน

หรือนายจ้างเลิกจ้างวันที่ 1 และให้ออกจากงานทันทีในวันที่ 1 ลูกจ้างก็จะได้รับค่าจ้างของวันที่ 1 และได้รับค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 2 – วันสิ้นเดือนนี้ และวันที่ 1 – วันสิ้นเดือนของเดือนหน้า รวมระยะเวลาที่ได้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าประมาณ 59 วัน หรือเกือบ 2 เดือน

ถ้านายจ้างบอกเลิกจ้างภายในวันสิ้นเดือนนี้ (กำหนดจ่ายค่าจ้างครั้งที่จะถึง) และให้ออกจากงานในวันสิ้นเดือนหน้า (กำหนดจ่ายค่าจ้างครั้งถัดไป) กรณีนี้ลูกจ้างจะไม่ได้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้านะ แต่ได้ค่าจ้างตามปกติจนถึงวันสิ้นเดือนหน้าเลย

ข้อสังเกต 

  • วันที่บอกเลิกจ้างมีผลต่อการคำนวณค่าบอกกล่วงล่วงหน้าว่าต้องนับถึงวันไหน 
  • วันที่ให้ออกจากงานมีผลต่อการคำนวณค่าบอกกล่วงล่วงหน้าว่าเริ่มนับตั้งแต่วันไหน
  • ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าจะไม่ซ้อนทับกับค่าจ้าง และจะถูกนับต่อจากค่าจ้างจนถึงวันกำหนดจ่ายค่าจ้างครั้งถัดไป
วิธีคิดค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อถูกเลิกจ้าง

วันตัดรอบค่าจ้างไม่มีผลต่อการคำนวณค่าบอกกล่าวล่วงหน้า

สำหรับการคำนวณค่าบอกกล่าวล่วงหน้าในบางกรณีก็อาจสร้างความสับสนให้คุณได้ เพราะบางบริษัทอาจกำหนดวันตัดรอบค่าจ้างและวันจ่ายค่าจ้างคนละวันกัน! ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น JusThat จะขอยกตัวอย่างอีก 1 ตัวอย่าง

ตัวอย่างที่ 3 ตัดรอบค่าจ้างทุกวันที่ 25 จ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน 

นายจ้างบอกเลิกจ้างวันที่ 25 เดือนนี้ และให้ออกจากงานในวันที่ 25 เดือนหน้า ลูกจ้างต้องได้รับค่าจ้างของวันที่ 26 – 25 ของเดือนหน้า และได้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าของวันที่ 26 – วันสิ้นเดือนหน้า เท่ากับว่าได้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าประมาณ 5 วัน

หรือนายจ้างบอกเลิกจ้างวันที่ 1 และให้ออกจากงานทันที ลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างของวันที่ 26 – 1 และได้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าของวันที่ 2 – วันสิ้นเดือน และวันที่ 1 – วันสิ้นเดือนหน้า เท่ากับว่าได้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเกือบ 2 เดือน ขาดไปแค่ 1 วันก็ครบ 2 เดือนพอดี

ข้อสังเกต 

  • ถึงแม้วันตัดรอบค่าจ้าง (วันตัดรอบเงินเดือน) ไม่มีผลต่อการคำนวณค่าบอกกล่าวล่วงหน้า แต่มีผลต่อการคำนวณค่าจ้างที่ลูกจ้างต้องได้รับนะ

จะได้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าต้องเป็นสัญญาจ้างแบบไม่กำหนดระยะเวลา

ถ้าสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลงตามกำหนดระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ เช่น ครบ 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี แล้วนายจ้างไม่ต่อสัญญา กรณีนี้ลูกจ้างจะไม่ได้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคแรก 

สัญญาจ้างที่ให้สิทธิฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาได้เป็นสัญญาแบบไม่กำหนดระยะเวลา

แต่ถ้ามีการให้สิทธิฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดได้ สัญญาจ้างนั้นก็จะเป็นสัญญาแบบไม่กำหนดระยะเวลา ถึงแม้จะมีการเขียนหรือกำหนดระยะเวลาไว้ชัดเจนก็ตาม 

เพราะต่างฝ่ายต่างก็ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายจะบอกเลิกสัญญาตอนไหน ลูกจ้างก็ไม่แน่ใจว่านายจ้างจะจ้างไปตลอดจนครบกำหนดหรือเปล่า ฝ่ายนายก็ไม่มั่นใจว่าลูกจ้างจะชิงลาออกก่อนไหม 

สัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญาแบบไม่กำหนดระยะเวลา

และสัญญาจ้างทดลองงานก็เป็นสัญญาแบบไม่กำหนดระยะเวลาเช่นกัน แม้จะมีการกำหนดระยะเวลาไว้ชัดเจนก็ตาม เช่น ทดลองงาน 3 เดือน ทดลองงาน 119 วัน เป็นต้น ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะไม่ผ่านทดลองงานและให้ออกจากงานก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างครั้งถัดไป นายจ้างก็จำเป็นต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าด้วย

เพราะสัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญาที่อยู่บนความไม่แน่นอน พอครบกำหนดแล้วนายจ้างอาจจ้างลูกจ้างต่อหรือไม่จ้างต่อก็ได้ ถ้านายจ้างจะเลิกจ้างก็ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้ถูกต้อง ลูกจ้างจะได้เตรียมตัวหางานใหม่ได้ทัน ถ้าบอกแล้วให้ออกก่อนกำหนด หรือไม่บอกแล้วให้ออกทันทีก็ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ลูกจ้างจะได้มีเงินเพียงพอสำหรับการเลี้ยงชีพในระหว่างที่หางานใหม่ด้วย

จะทำยังไง ถ้าถูกเลิกจ้างแล้วไม่ได้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า

ถ้านายจ้างไม่ยอมจ่าย ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิทางกฎหมายในการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานให้มีการสอบสวนและออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายได้ โดยการร้องเรียนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อศาลแรงงานเพื่อเรียกเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้าก็ได้เช่นกัน แต่ต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งนะ จะใช้สิทธิ 2 ทางพร้อมกันไม่ได้ 

หรือจะลองส่งโนติสเพื่อทวงถามก่อนก็ได้ แต่ถ้าทวงแล้วทวงอีกก็ยังไม่ได้และต้องการรักษาสิทธิของตัวเอง ลูกจ้างจะต้องยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน หรือยื่นฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน ภายใน 10 ปี เพราะไม่อย่างนั้นคดีก็จะขาดอายุความแล้วอาจเรียกร้องเงินส่วนนี้ไม่ได้นะ

และนายจ้างก็อาจต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 144 ในกรณีที่ถูกดำเนินคดีอาญาเนื่องจากไม่ยอมจ่ายเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า

หรือในกรณีที่ลูกจ้างถูกนายจ้างเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ลูกจ้างก็มีสิทธิ์ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากการถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ต่อศาลแรงงานได้ด้วยนะ

รู้หรือไม่?! ยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรงได้ จะทำให้เรื่องถึงชั้นศาลได้เร็วขึ้น
JusThat บริการส่งฟ้องด้วยตัวเอง ค่าบริการปรึกษาเริ่มต้น 1,500 บาท

  1. แอดไลน์ @justhatapp
  2. เริ่มต้นทำแบบประเมิน
  3. หากต้องการ ส่งฟ้องได้ทันที
Line-Chat-Portrait

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท ตั้งแต่คลอดออกมาและอยู่รอดเป็นทารก คนคนนั้นจะมีสภาพเป็นบุคคล เมื่อมีสภาพบุคคลแล้วจะมีกองทรัพย์

Read More »

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าคุณได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นพยานศาล JusThat ได้นำข้อมูล หลักการปฏิบัติตัวในฐานะพยานศ

Read More »

รับช่วงสิทธิ คืออะไร

รับช่วงสิทธิ คืออะไร รับช่วงสิทธิ คืออะไร มีความสัมพันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างไร JusThat จะพาไปหาคำตอบและทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้เลย

Read More »