1

JusThat

ซื้อของออนไลน์ไม่ได้ของ ทำยังไงให้ได้เงินคืน

การซื้อของออนไลน์กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว ไม่ว่าจะอยากได้อะไรเพียงเข้าแอพช๊อปปิ้ง หรือเปิดเว็บไซต์ของร้านค้าก็สามารถสั่งซื้อของแล้วรอรับที่บ้านได้เลย แถมร้านค้าออนไลน์ยังมีอยู่ในแทบทุกแพลตฟอร์ม เช่น Line Facebook IG Twitter Tiktok และอื่น ๆ อีกมากมาย 

เมื่อมีการซื้อของออนไลน์มากขึ้น ร้านค้าที่จัดการระบบหลังบ้านไม่มีดีก็อาจส่งของผิด ส่งของไม่ครบ ส่งของเกิน หรือลืมส่งของให้ลูกค้าก็มี รวมทั้งยังมีเหล่ามิจฉาชีพที่คอยฉกฉวยโอกาส แกล้งทำตัวเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เพื่อหลอกเอาเงินคนอื่นอีกด้วย ปัญหาการซื้อของแล้วไม่ได้ของจึงเพิ่มสูงขึ้น แล้วถ้าหากปัญหานี้มาเกิดกับตัวเรา จะมีวิธีจัดการยังไงบ้าง ?

ซื้อของออนไลน์ คือสัญญาแบบไหน

ซื้อของออนไลน์ คือ สัญญาซื้อขาย เป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่ง และวัตถุประสงค์ของสัญญา คือ การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน(สินค้า)ให้แก่ผู้ซื้อสินค้า ดังนั้นผู้ขายจะต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของสินค้าที่จะขายด้วยนะ โดยแต่ละฝ่ายก็จะมีสิทธิ หน้าที่ที่แตกต่างกัน

  • ผู้ขาย จะต้องรับชำระเงิน โอนกรรมสิทธิ์ ส่งมอบสินค้าที่ซื้อขาย รับผิดชอบความบกพร่องที่เกิดขึ้นจากตัวสินค้า
  • ผู้ซื้อ จะต้องรับมอบสินค้า ชำระเงินค่าสินค้า จัดการรับโอนกรรมสิทธิ์

ดังนั้นถ้าหากจ่ายเงินไปแล้ว ร้านค้าผิดสัญญาไม่ยอมส่งของให้ ลูกค้าก็มีสิทธิ

  • ยกเลิกสัญญาได้
  • เรียกมัดจำคืน 
  • เรียกเบี้ยปรับ(ค่าปรับ) ที่ตกลงกันเอาไว้ หรือ
  • เรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการผิดสัญญา
  • เรียกเงินที่จ่ายไปคืนพร้อมดอกเบี้ย หรือ
  • ขอให้ร้านค้าส่งสินค้าให้ตามสัญญา
ซื้อของออนไลน์แล้วโดนโกง

ซื้อของออนไลน์ ร้านค้าส่งของไม่ตรงปก ลูกค้ามีสิทธิไม่รับ

สั่งของไปแล้วร้านค้าส่งของไม่ตรงปก ส่งไม่ครบ หรือส่งมาเกินที่สั่ง ลูกค้าก็มีสิทธิไม่รับของได้เหมือนกันนะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 465

  • ส่งมอบสินค้าน้อยกว่าที่ตกลงไว้ : ลูกค้าสามารถไม่รับสินค้าได้ทั้งหมด หรือรับแค่บางส่วนแล้วจ่ายเงินแค่เท่าที่ส่งมาก็ได้
  • ส่งมอบสินค้ามากกว่าที่ตกลงไว้ : ลูกค้าสามารถไม่รับสินค้าได้ทั้งหมด หรือรับทั้งหมดเลยแล้วจ่ายเงินเพิ่ม หรือรับไว้แค่เท่าที่ตกลงกันก็ได้
  • ส่งมอบสินค้าอื่น ๆ ปนมานอกจากที่ตกลงไว้ : ลูกค้าสามารถไม่รับสินค้าได้ทั้งหมด หรือรับไว้แค่สินค้าที่ตกลงกันนอกนั้นก็ส่งคืนให้ร้านไปก็ได้

เราจะเห็นสัญญาซื้อขายจะขึ้นอยู่กับข้อตกลงของผู้ซื้อและผู้ขายเป็นหลัก ถึงแม้จะมีปัญหาก็ยังสามารถพูดคุยตกลงกันได้ ว่าจะคืนทั้งหมด หรือรับไว้บางส่วนก็ยังได้ ดังนั้นถ้าหากร้านค้า ทำผิดสัญญา ยังสามารถติดต่อได้เราก็ควรส่งโนติสไปบอกกล่าวทวงถาม หรือแชทไปบอกให้ทำตามที่ตกลงเอาไว้ก่อน

ซื้อของออนไลน์ แบบไหนเข้าข่ายฉ้อโกงหรือผิดสัญญาทางแพ่ง

หากพูดกันโดยทั่วไปเมื่อซื้อของออนไลน์แล้วร้านค้าไม่ส่งของให้ หรือเจอเหตุการณ์ที่อีกฝ่ายไม่ทำตามที่ตกลง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการผิดสัญญาทั่วไปหรือเป็นการฉ้อโกง ก็มักจะถูกเรียกโกงทั้งหมด ทำให้หลายคนเกิดความสับสนว่า การผิดสัญญาก็คือการฉ้อโกง แต่ในทางกฎหมาย การผิดสัญญาทางแพ่ง VS การฉ้อโกง ไม่เหมือนกัน

ผิดสัญญาทางแพ่ง คือ ตอนที่ทำสัญญา ทำการตกลงซื้อขายกัน คนขายไม่ได้มีเจตนาจะโกง มีของขายจริง แต่เมื่อส่งของให้ลูกค้าก็เกิดการส่งผิดแบบ ส่งไม่ครบ ส่งเกินมา หรืออาจจะมีเหตุการณ์อื่น ๆ เช่น สั่งผลิตของแล้วของไม่มาส่ง ทำให้ส่งของให้ลูกค้าไม่ทัน

ฉ้อโกง คือ คนขายมีเจตนาโกงตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ไม่มีของที่จะขาย อาจใช้บัญชีปลอมมาหลอกขายของ มีการใช้กลอุบายต่าง ๆ ให้เหยื่อหลงเชื่อ เมื่อเหยื่อโอนเงินให้ก็บล็อกบัญชีหนีหายไปติดต่อไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความ อันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอก ลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามหรือ ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะดูว่าเป็นการผิดสัญญา หรือ ฉ้อโกง ต้องดูที่เจตนาของอีกฝ่าย ถ้าหากเเป็นการผิดสัญญาต้องฟ้องศาลด้วยตัวเองเท่านั้น แต่หากเป็นการฉ้อโกงจะสามารถแจ้งความดำเนินคดีอาญาได้ หรือฟ้องศาลด้วยตัวเองก็ทำได้เหมือนกัน

ถูกโกง ดำเนินคดีแบบไหนได้บ้าง

เพราะการถูกโกงที่เราเข้าใจกันตามภาษาพูดทั่ว ๆ ไป มีทั้งการผิดสัญญาที่เป็นคดีแพ่ง และการฉ้อโกงที่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ดังนั้น การที่จะบังคับให้อีกฝ่ายคืนเงินให้ก็จะมีวิธีที่แตกต่างกันไปด้วย

ฟ้องคดีแพ่งผิดสัญญา ซื้อของออนไลน์ไม่ได้ของ ต้องทำยังไง

  1. เก็บรวบรวมหลักฐาน เช่น ภาพโปรไฟล์ร้านค้า ภาพหน้าเว็บไซต์ประกาศขายสินค้า แชทการสนทนา  หลักฐานการโอนเงิน ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น
  2. ส่งโนติสไปทวงถาม ให้ส่งของให้ หรือคืนเงินให้ภายในเวลาที่กำหนด
  3. หากคนขายยังเพิกเฉย ไม่สนใจ เราสามารถฟ้องศาลด้วยตัวเอง 
  4. เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย หากตกลงคืนเงินกันได้ศาลจะพิพากษาตามยอม
  5. หากตกลงกันไม่ได้ คนขายไม่ยอมคืนเงิน จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในศาลชั้นต้นต่อไป
  6. สืบพยานแล้ว ศาลเห็นว่าอีกฝ่ายผิดจริง ศาลจะพิพากษาให้คืนเงิน

ดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกง

  1. เก็บรวบรวมหลักฐาน เช่น ภาพโปรไฟล์ร้านค้า ภาพหน้าเว็บไซต์ประกาศขายสินค้า แชทการสนทนา  หลักฐานการโอนเงิน ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น
  2. พริ้นท์หลักฐานใส่ A4 ไม่จำเป็นต้องเป็นเอกสารสี ทำเป็นขาวดำก็ได้
  3. แจ้งความดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่รู้ตัวว่าถูกโกงและรู้ตัวคนทำผิด
  4. ตำรวจจะออกหมายเรียกอีกฝ่าย และออกคำสั่งขออายัดเงินในบัญชีธนาคารของคนขาย
  5. หากอีกฝ่ายมาแล้วไม่ยอมคืนเงินให้ ไม่ยอมรับผิด ตำรวจจะส่งสำนวนให้อัยการเป็นโจทก์ฟ้องศาลต่อไป
  6. เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลชั้นต้น โดยอัยการทำหน้าที่เรียกเงินที่ถูกโกงไปคืนให้และขอให้ศาลลงโทษคนทำผิด
  7. หากอีกฝ่ายมีความผิดจริงศาลจะพิพากษาให้ได้รับโทษทางอาญาและต้องจ่ายเงินคืนให้ด้วย

หรือฟ้องศาลด้วยตัวเองภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่รู้ตัวว่าถูกโกงและรู้ตัวคนทำผิดก็ทำได้ กรณีที่ฟ้องเองจะมีขั้นตอนการฟ้องคดีอาญา ที่แตกต่างจากการแจ้งความแล้วอัยการเป็นโจทก์ฟ้องเล็กน้อย คือ จะมีการนัดไต่สวนมูลฟ้องก่อนว่าเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงไหม เราจะต้องนำหลักฐานไปอธิบายให้ศาลทราบว่า คนขายมีเจตนาโกงตั้งแต่แรก ศาลจึงจะประทับรับฟ้องให้ และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลชั้นต้นต่อไป เพราะหากไม่มีมูลความผิดทางอาญาศาลที่ดูแลคดีอาญารับฟ้องไว้ไม่ได้ และเราจะต้องไปฟ้องเป็นคดีแพ่งผิดสัญญาแทน

ซื้อของออนไลน์จากร้านที่เชื่อถือได้ ป้องกันการถูกโกง

การซื้อของออนไลน์ เป็นสิ่งที่สะดวกและรวดเร็ว นั่งเล่นโทรศัพท์เพลิน ๆ ก็มีโฆษณา หรือ Live สดขายของขึ้นมาที่หน้าจอ ทำให้อดไม่ได้ที่จะต้องกดซื้อไว้ก่อน เพราะแต่ละร้านก็มีโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม สู้ใจคนซื้อให้ยอมจ่ายเงินให้ และมิจฉาชีพก็ฉวยโอกาสเหล่านี้มาหลอกลวงคนอื่น แล้วจะทำยังไงไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ…

 

  • เลือกร้านค้าที่น่าเชื่อถือ มีผู้ใช้จริงมารีวิว มีการอัปเดตรายระเอียดต่าง ๆ อยู่เสมอ
  • เช็คความปลอดภัยของเว็บไซต์โดยดูจาก URL. ควรเป็น https://
  • ระวังเรื่อง Wi-Fi สาธารณะ 
  • ตรวจสอบบิลบัตรเครดิต และแจ้งเตือนในแอพธนาคารอยู่เสมอ
  • เปลี่ยนพาสเวิร์ดบ่อย ๆ 
  • เก็บหลักฐานการโอนเงินเอาไว้ให้ครบ

รู้หรือไม่?! ยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรงได้ จะทำให้เรื่องถึงชั้นศาลได้เร็วขึ้น
JusThat ค่าบริการปรึกษาเริ่มต้น 1,500 บาท บริการส่งฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา

  1. แอดไลน์ @justhatapp
  2. เริ่มต้นทำแบบประเมิน
  3. หากต้องการ ส่งฟ้องได้ทันที
Line-Chat-Portrait

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท ตั้งแต่คลอดออกมาและอยู่รอดเป็นทารก คนคนนั้นจะมีสภาพเป็นบุคคล เมื่อมีสภาพบุคคลแล้วจะมีกองทรัพย์

Read More »

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าคุณได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นพยานศาล JusThat ได้นำข้อมูล หลักการปฏิบัติตัวในฐานะพยานศ

Read More »

รับช่วงสิทธิ คืออะไร

รับช่วงสิทธิ คืออะไร รับช่วงสิทธิ คืออะไร มีความสัมพันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างไร JusThat จะพาไปหาคำตอบและทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้เลย

Read More »