1

JusThat

ขายของออนไลน์ 9 พ.ร.บ. ที่พ่อค้าต้องรู้ แม่ค้าต้องเข้าใจ

เมื่อวิทยาศาสตร์พัฒนาสิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยีให้เข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรา ทำให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้เร็วขึ้น การหาข้อมูลต่าง ๆ ก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว แค่ตื่นนอนมาอยากกิน หรืออยากได้อะไรก็แค่เปิดโทรศัพท์หรือแล็ปท็อป พิมพ์แล้วค้นหา สั่งเสร็จก็นอนรอที่บ้านได้เลย

การซื้อขายออนไลน์จึงได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา เพราะสามารถเข้าถึงคนจำนวนมากได้ง่ายโดยที่ลูกค้าสามารถรอรับสินค้าได้ที่บ้านเลย และการขายของออนไลน์ยังเพิ่มยอดขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าได้อีกด้วย สะดวกสบายทั้งฝั่งคนขายและคนซื้อเลยใช่ไหมละ แต่ก่อนที่จะเริ่มขายของออนไลน์ เราต้องรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยนะ

  1. พระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499
  2. พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
  3. พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481
  4. พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522
  5. พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
  6. พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
  7. พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544
  8. พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510
  9. พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522
กฎหมายเกี่ยวกับการขายของออนไลน์ที่พ่อค้าแม่ค้าต้องรู้

1. ขายของออนไลน์ ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ต้องรู้ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2553 ข้อ 5 มีการกำหนดให้การซื้อขายสินค้าหรือบริการที่ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตต้องจดทะเบียน ไม่ว่าจะมีหน้าร้านหรือไม่มีก็ตาม ซึ่งประกาศนี้มีผลบังคับใช้ต้ังแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2554 เป็นต้นมา ดังนั้นการตั้งร้านค้าออนไลน์จึงต้องไปจดทะเบียนให้ถูกต้อง

ถ้าไม่จดจะมีโทษตามมาตรา 19 พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 ปรับไม่เกิน 2,000 บาท และปรับไม่เกินวันละ 100 บาท จนกว่าจะไปจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย

โดยไปยื่นจดทะเบียนได้ที่สำนักเขตในกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตามที่ตั้งของสำนักงานหรือตามที่อยู่ของคนขาย
 
หลักฐานที่ต้องเตรียม
  1. บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน
  2. เอกสารแบบคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.)
  3. รายละเอียดเกี่ยวกับเว็บไซต์(เอกสารแนบแบบ ทพ.) กรอก 1 ใบต่อ 1 เว็บไซต์
  4. Print หน้าแรกของเว็บไซต์
  5. วาดแผนที่ตั้งการประกอบพาณิชยกิจ
  6. หนังสือรับรองการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท (กรณีจดในนามนิติบุคคล)
  7. หนังสือมอบอำนาจพร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท และสำเนาบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ

 

ถ้าไม่ได้เป็นเจ้าของบ้าน ให้เตรียม…

  1. หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่หรือสัญญาเช่า
  2. สำเนาบัตรประจำตัวเจ้าของสถานที่และสำเนาทะเบียนบ้าน หรือเอกสารสิทธิ์ที่แสดงว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

2. ขายของออนไลน์ นำเข้าข้อมูลเท็จ หลอกลวง มีความผิด

การขายของออนไลน์นอกจากจะต้องการผลกำไรแล้วยังต้องมีความจริงใจกับลูกค้าอีกด้วย เพราะสิ่งนี้เองที่จะทำให้ลูกค้ากลับมาอุดหนุนร้านของเราไปเรื่อย ๆ การหลอกลวงให้คนอื่นหลงเชื่อโดยนำเข้าข้อมูลเท็จ หลอกลวง หรือทำให้คนอื่นได้รับความเสียหาย นอกจากจะเป็นการทำร้ายลูกค้า ทำให้ยอดขายตกเมื่อมีคนรู้ความจริงแล้วยังมีโทษอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทด้วยนะ

3. ขายของออนไลน์ ต้องยื่นภาษีให้ถูกต้อง

การยื่นภาษีเป็นหน้าที่ของทุกคนตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 มาตรา 56 ซึ่งรายได้จากการขายออนไลน์จัดเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ดังนั้น ถ้ามีเงินได้จากการขายของ พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ต้องยื่นภาษีและทำบัญชีอย่างรอบคอบเพื่อยื่นภาษีทั้งกลางปี (ภ.ง.ด.94) และสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) ให้ถูกต้องด้วยนะ

เพราะสิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่ภาษีที่ต้องจ่าย บางครั้งหักค่าลดหย่อนไปแล้วอาจไม่ต้องจ่ายภาษีเลยก็ได้ แต่ถ้าไม่ยอมยื่นแล้วสรรพากรตรวจสอบย้อนหลังอาจจะได้จ่ายหนักกว่าเดิมจนธุรกิจที่ทำอยู่ล้มทั้งยืนเลยก็ได้ ซึ่งมีการกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ไม่ดำเนินการให้ถูกต้อง ดังนี้

  • มาตรา 27 ไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน โดยที่เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี
  • มาตรา 22 หากมีกรณีให้สงสัยว่ายื่นแบบแสดงรายการไว้ไม่ถูกต้องตามความจริง เจ้าพนักงานมีสิทธิ์ออกหมายเรียกเพื่อให้นำบัญชี เอกสาร หลักฐานที่เชื่อถือได้ไปชี้แจง หากพบว่าไม่ถูกต้อง หรือไม่ยอมปฎิบัติตามคำสั่งจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ
  • มาตรา 26 หากไม่ยื่นแบบแสดงรายการ เจ้าพนักงานตรวจสอบสามารถออกหมายเรียก เพื่อให้ชี้แจง ประเมินเงินภาษีที่ต้องจ่าย หากไม่ยอมจ่ายหรือไม่ยอมปฎิบัติตามคำสั่งจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ  
  • มาตรา 35 ไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท   
  • มาตรา 37 กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จ หรือฉ้อโกงเพื่อหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
  • มาตรา 37 ทวิ กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4. ขายของออนไลน์ ต้องไม่โฆษณาเกินจริง

การขายของออนไลน์เป็นการติดต่อกับผู้บริโภคและมีผลต่างๆ กับผู้บริโภคโดยตรง และยังมีผลกับสังคมส่วนรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การขายของออนไลน์จึงต้องอยู่ภายใต้การบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยไม่โฆษณาเกินจริง สินค้าได้มาตรฐาน มีฉลากถูกต้อง ไม่เป็นอันตรายกับลูกค้าและไม่สร้างผลเสียให้กับสังคม เพราะไม่อย่างนั้นก็อาจได้รับโทษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522

มาตรา 47 ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งกระทำผิดซ้ำอีก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำท้ังปรับ

5. ขายของออนไลน์ ต้องแจ้งราคาให้ชัดเจนและไม่ตัดราคา

การขายของจะต้องมีความเป็นธรรมกับลูกค้า ด้วยการแสดงราคาขายทุกครั้งตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 70 พ.ศ. 2563 เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และง่ายต่อการตัดสินใจของลูกค้า โดยที่ราคาขายและราคาที่แสดงต้องเท่ากัน แจ้งราคาไว้ 100 บาท แต่ขายจริง 120 บาทแบบนี้ไม่ได้นะ ถ้าหากไม่ยอมแสดงราคาให้ถูกต้องจะมีโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 

มาตรา 40 ผู้ใดไม่แสดงราคาหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ กําหนดตามมาตรา 28 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

และความเป็นธรรมกับเพื่อนร่วมอาชีพก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการค้าขายขึ้นอยู่กับกลไกของตลาด ถ้ามีการตัดราคากันหรือเพิ่มราคาจนสูงลิบลิ่ว ก็จะทำให้มีผลกระทบในวงกว้างได้ การกำหนดราคาให้อยู่ในช่วงราคาที่พอเหมาะกับกลุ่มลูกค้า ต้นทุน และอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งมีการกำหนดเอาไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 29 ห้ามให้ผู้ประกอบธุรกิจทำสิ่งที่จงใจที่จะทําให้ราคาตํ่าเกินสมควร หรือสูงเกินสมควร หรือทําให้เกิดความปั่นป่วนของราคาของสินค้าหรือบริการใด หากฝ่าฝืนจะมีโทษทางอาญาตามมาตรา 41 จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร้านค้าออนไลน์ต้องโชว์ราคาให้ลูกค้าเห็นเสมอ

6. ขายของออนไลน์ ต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น

ใครใคร่ค้าค้า ใครใคร่ขายขาย แต่การเอาของมาขายต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของคนอื่นด้วยนะ เพราะกว่าจะสามารถคิด ออกแบบ สินค้าหรืองานต่าง ๆ ออกมาได้ ต้องมีขั้นตอนที่ยาวนาน รวมถึงต้องใช้ทั้งแรงกายและความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานออกมา การไปเอาไอเดียของคนอื่นมาขายหาเงินเข้าตัวเองจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำเลย

ซึ่งตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มีการกำหนดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ผลงาน และขอบเขตที่ผู้อื่นสามารถนำไปใช้ได้ และการนำมาค้าขาย หาประโยชน์จำเป็นต้องมีการอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน ถ้าทำการละเมิดเจ้าของลิขสิทธิ์จะมีโทษตามมาตรา 70 พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ จําคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 400,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

7. ขายของออนไลน์ โดนโกงใช้แชทเป็นหลักฐานได้

ขายของอยู่ดีดี ลูกค้าสั่งซื้อของตามปกติ ส่งของให้แล้วลูกค้าไม่จ่ายเงิน หรือมีมิจฉาชีพใช้กลโกงเอารูปสินค้าในร้านไปโพสต์ขายแล้วให้คนอื่นโอนเงินมาให้เราแทน วันดีคืนดีก็มีหมายเรียกจากตำรวจมาที่บ้าน ส่วนคนโกงก็ได้ของไปใช้แบบฟรี ๆ สิ่งที่จะช่วยได้คือหลักฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยในช่องแชท การประกาศขายบนช่องทางโซเชี่ยลต่าง ๆ

เพราะหลักฐานเหล่านี้มีสถานะทางกฎหมายเหมือนการทำเป็นหนังสือบนกระดาษ สามารถใช้บังคับได้ตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ในกรณีที่เกิดปัญหาต้องการฟ้องศาลก็สามารถใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีได้

8. ขายของออนไลน์ ห้ามขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต

การซื้อขายยาผ่านอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับการซักถามประวัติจากเภสัชกรเป็นเรื่องที่อันตรายกับคนซื้อยาไปใช้ ผลกระทบอาจเกิดขึ้นทันทีทันใด หรือมีการใช้ไปสักระยะแล้วเกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาผิดก็ได้ ซึ่งการขายยาที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้านต้องมีใบอนุญาตตามมาตรา 12 และห้ามขายนอกที่ทำการตามมาตรา 19 พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 การขายยาบนอินเทอร์จึงเป็นการขายนอกสถานที่ ขายไม่ได้เด็ดขาดนะ และโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ไม่ได้เหมือนกัน ถ้าฝ่าฝืนจะมีโทษทางอาญาด้วย…

  • ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  • ขายยานอกสถานที่มีโทษปรับตั้งแต่ 2,000 – 5,000 บาท
  • โฆษณายาโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

9. ขายของออนไลน์ ต้องมีใบอนุญาตขายอาหาร

อาหารเป็นสิ่งที่จำเป็นเป็นต่อการดำรงชีวิต ใคร ๆ ก็ต้องกินถ้าไม่ทำเองก็ต้องซื้อ การขายอาหารไม่ว่าจะเป็นช่องทางออนไลน์หรือออฟไลน์จึงต้องมีการขออนุญาต ซึ่งมีการกำหนดไว้ในมาตรา 14 และมาตรา 15 พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 โดยใบอนุญาตมีอายุถึงวันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่ 3 นับตั้งแต่ปีที่ออกใบอนุญาต ใครมีใบอนุญาตหรือกำลังจะไปขอใบอนุญาตต้องเช็คปีให้ดีด้วยนะ และการขายอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษทางอาญาตามมาตรา 53 มีโทษจําคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วยนะ

ขายของออนไลน์ โดนโกงทำยังไงดี

รู้หน้าไม่รู้ใจเป็นสิ่งที่ยังใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะกับการซื้อขาย ที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งเงินและทรัพย์สินอื่น ๆ  บางครั้งคนโกงอาจไม่ได้ต้องการเงินแต่อยากได้ของไปแทน เลยมีกลโกง เพื่อฉ้อโกงหลากหลายรูปแบบมาหลอกพ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ บอกจะจ่ายก็ไม่จ่าย ซึ่งการเอาของไปแล้วไม่จ่ายเงินเป็นได้ทั้งการฉ้อโกงมีความผิดอาญา หรือเป็นการผิดสัญญาทางแพ่งก็ได้ ขึ้นอยู่กับเจตนาของคนทำว่าตั้งใจโกงแต่แรกหรือเปล่า

การฉ้อโกงผู้เสียหายสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ โดยมีอายุความ 3 เดือน หรือฟ้องศาลด้วยตัวเองก็สามารถทำได้ แต่ถ้าไม่แน่ใจรายละเอียดต่าง ๆ ว่าเป็นการถูกฉ้อโกงหรือผิดสัญญาทางแพ่ง การขอคำปรึกษาจากพนักงานสอบสวน หรือขอให้ทนายความช่วยดูรายละเอียดของคดีว่าสามารถดำเนินการยังไงได้บ้าง ก็จะทำให้การดำเนินคดีเป็นไปได้รวดเร็วมากขึ้น

รู้หรือไม่?! ยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรงได้ จะทำให้เรื่องถึงชั้นศาลได้เร็วขึ้น
JusThat ค่าบริการปรึกษาเริ่มต้น 1,500 บาท บริการส่งฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา

  1. แอดไลน์ @justhatapp
  2. เริ่มต้นทำแบบประเมิน
  3. หากต้องการ ส่งฟ้องได้ทันที
Line-Chat-Portrait

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท ตั้งแต่คลอดออกมาและอยู่รอดเป็นทารก คนคนนั้นจะมีสภาพเป็นบุคคล เมื่อมีสภาพบุคคลแล้วจะมีกองทรัพย์

Read More »

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าคุณได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นพยานศาล JusThat ได้นำข้อมูล หลักการปฏิบัติตัวในฐานะพยานศ

Read More »

รับช่วงสิทธิ คืออะไร

รับช่วงสิทธิ คืออะไร รับช่วงสิทธิ คืออะไร มีความสัมพันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างไร JusThat จะพาไปหาคำตอบและทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้เลย

Read More »