1

JusThat

โกงเจ้าหนี้ จากคดีแพ่งสู่การกระทำความผิดทางอาญา

เป็นหนี้ต้องชดใช้ ถ้าชดใช้ในสิ่งที่เป็นหนี้ไม่ได้ ก็ขอเจ้าหนี้ชดใช้เป็นอย่างอื่นแทนได้ เพราะไม่มีเจ้าหนี้ที่ไหนอยากให้หนี้ของตัวเองเสียเปล่าไปหรอกใช่ไหม แต่ก็ยังมีลูกหนี้บางประเภทที่ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย แต่แอบยักย้าย ถ่ายเท โอนทรัพย์สินหนี หรือแกล้งให้ตัวเองเป็นหนี้เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ก็มี 

และในบทความนี้ JusThat จะมาเล่าเกี่ยวกับเรื่องของการโกงเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นความผิดทางอาญาที่ลูกหนีหัวใสแต่ใจไม่สุจริตมักจะแอบทำกัน ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าทำไปแล้วยังไง๊ ยังไงเจ้าหนี้ก็ไม่มีทางได้รับชำระหนี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยแน่นอน และความผิดฐานโกงเจ้าหนี้จะมีอะไรบ้าง มีองค์ประกอบความผิดอย่างไร ทุกท่านสามารถติดตามอ่านได้ในบทความนี้เลย

ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ คืออะไร

ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ภาษาอังกฤษ Offence of cheating creditors มีอยู่ 2 แบบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 349 (โกงเจ้าหนี้จำนำ) และ มาตรา 350 (โกงเจ้าหนี้ทั่วไป)

  • ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้จำนำ เป็นกรณีที่ลูกหนี้นำทรัพย์ของตนเองไปจำนำไว้กับเจ้าหนี้ และต่อมาลูกหนี้ได้มีการโกงเจ้าหนี้ โดยการนำเอาทรัพย์ที่จำนำไว้ไปจากเจ้าหนี้ มีการทำลายทรัพย์นั้น หรือทำให้ทรัพย์นั้นเสื่อมค่าลง หรือทำให้ทรัพย์นั้นไร้ประโยชน์ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ผู้รับจำนำ ซึ่งผู้กระทำความผิดในข้อหานี้จะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 349

     มาตรา 349 ผู้ใดเอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์อันตนจำนำไว้แก่ผู้อื่น ถ้าได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตัวอย่าง A นำแหวนเพชรไปจำนำไว้กับ B ตีราคาได้เป็นเงิน 20,000 บาท และ A ได้รับเงินจำนวน 20,000 บาทมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และต่อมา A ทำทีขอแหวนเพชรมาจาก B และไม่นำไปคืนไว้กับ B เหมือนเดิม แต่กลับนำแหวนเพชรนั้นไปขายให้ C เพื่อให้ B ได้รับความเสียหาย เป็นต้น

  • ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ กรณีลูกหนี้ย้าย โอนทรัพย์ไปให้คนอื่น ซ่อนทรัพย์ของตนเองไม่ให้เจ้าหนี้รู้ว่าทรัพย์นั้นอยู่ที่ไหน หรือแกล้งให้ตนเองเป็นหนี้ที่ไม่เป็นความจริง เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ของตนเองหรือเจ้าหนี้ของคนอื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนในขณะที่เจ้าหนี้กำลังใช้หรือจะใช้สิทธิ์เรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ โดยผู้กระทำความผิดในข้อหานี้จะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350

     มาตรา 350 ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตัวอย่าง O เป็นหนี้กู้ยืมเงิน M จำนวน 500,000 บาท และมีการทำสัญญากู้ยืมเงินไว้เป็นหลักฐาน แต่เมื่อครบกำหนดแล้ว O ก็ยังไม่นำเงินไปใช้คืนให้ M แม้ M จะโทรไปทวงถาม แชทไปถาม O ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะคืนเงิน M จึงใช้บริการส่งโนติสทวงถามให้ชำระหนี้ของ JusThat หาก O ไม่ชำระหนี้ให้ M ตามกำหนดก็จะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป เมื่อเป็นแบบนี้ O ซึ่งไม่อยากจ่ายเงินให้กับ M อยู่แล้วจึงทำการโอนที่ดินทั้งหมดให้กับน้องสาวของตัวเอง โอนบ้านและเงินเกือบทั้งหมดให้เป็นของแม่ เพื่อไม่ให้ M ได้รับชำระหนี้แม้ว่า M จะฟ้องร้องจนชนะคดี M ก็จะไม่สามารถบังคับคดีกับ O ได้ เพราะ O ไม่มีทรัพย์ให้ M ยึดหรืออายัดนั่นเอง

สรุปได้ว่า แม้เจ้าหนี้จะยังไม่ได้ใช้สิทธิ์ทางศาลเพื่อเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ เพียงแต่จะใช้สิทธิ์แล้วลูกหนี้รู้ว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิ์ และได้ยักย้าย ถ่าย โอน ซ่อนทรัพย์ แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้ที่ไม่เป็นความจริง เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ของตนเองหรือคนอื่นได้รับชำระหนี้ เท่านี้ก็เป็นความผิดอาญาฐานโกงเจ้าหนี้แล้ว เรียกได้ว่า เป็นจำเลยในคดีแพ่งเฉย ๆ ก็ยังพอทน แต่ก็ดันอยากอดทนเป็นจำเลยในคดีอาญาไปด้วยซะอย่างนั้น

Facebook
Twitter
LinkedIn

จะเห็นได้ว่า?! คดีลักษณะนี้มีความซับซ้อน
เราแนะนำให้เลือกใช้ทนายความที่มีประสบการณ์
หมดกังวลปัญหาทนายความทิ้งคดี
เช็คค่าใช้จ่ายได้ตั้งแต่ต้นจนจบโดย JusThat 

  1. แอดไลน์ @justhatapp
  2. ส่งหลักฐานให้ทนายความ
  3. เช็คแนวทางและค่าใช้จ่ายฟรี!
Line-Chat-Portrait

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท ตั้งแต่คลอดออกมาและอยู่รอดเป็นทารก คนคนนั้นจะมีสภาพเป็นบุคคล เมื่อมีสภาพบุคคลแล้วจะมีกองทรัพย์

Read More »

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าคุณได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นพยานศาล JusThat ได้นำข้อมูล หลักการปฏิบัติตัวในฐานะพยานศ

Read More »

รับช่วงสิทธิ คืออะไร

รับช่วงสิทธิ คืออะไร รับช่วงสิทธิ คืออะไร มีความสัมพันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างไร JusThat จะพาไปหาคำตอบและทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้เลย

Read More »