1

JusThat

ให้สินสอดแล้วเอาคืน ทำได้หรือไม่ ไขข้อข้องใจ เรียกสินสอดคืนยังไงให้ถูกกฎหมาย

สินสอดทองหมั้น อยู่ร่วมในพิธีแต่งงานของคนไทยมานาน แม้ในปัจจุบันจะมีความนิยมน้อยลง แต่ผู้คนก็ยังมีการเรียกสินสอดกันอยู่

  • อยากแต่งต้องหาเงินมาให้ได้ หาไม่ได้ไม่ต้องมาเจอหน้า
  • สินสอดเป็นหน้าที่ของผู้ชาย อยากได้ภรรยาต้องหามาให้ได้
  • พ่อแม่ผู้หญิงเลี้ยงมาอย่างดีจะให้ฟรีได้ยังไง
  • เอาสินสอดมาวางโชว์ ตกลงว่าจะคืนให้ แต่ถึงเวลาพ่อแม่เจ้าสาวไม่ยอมคืน
  • ตกลงว่าจะแต่งแต่ไม่ได้แต่งเพราะสินสอดแพงเกินไป
  • หาสินสอดไม่ได้ ถ้าไม่กู้ก็ต้องเช่าสินสอด

บทความนี้ JusThat จะขอนำเสนอเรื่องค่าสินสอด ทองหมั้น ในมุมมองทางกฎหมาย สินสอดสำคัญมากแค่ไหน  จำเป็นต้องให้สินสอดเสมอไปหรือไม่ ให้แล้วเอาคืนได้หรือเปล่า ตกลงจะคืนแต่ไม่คืนทำได้ไหม บอกจะแต่งแต่เจ้าบ่าวหนีงานแต่ง ฝ่ายเจ้าสาวมีสิทธิเรียกค่าสินสอดไหม เอาคืนยังไงถึงจะถูกกฎหมาย

ให้สินสอดแล้วเอาคืน

สินสอด คืออะไร

สินสอดจะมีลักษณะที่สำคัญอยู่ 3 อย่าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437

  1. เป็นทรัพย์สิน และการตกลงว่าจะให้จะต้องตกลงก่อนวันแต่งงาน แต่จะให้ก่อนแต่ง หลังแต่ง หรือตอนแต่งงานเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับข้อตกลง
  2. โดยที่ฝ่ายชายมอบให้พ่อแม่ พ่อแม่บุญธรรม หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิงเท่านั้น ผู้อื่นนอกจากนี้ไม่มีสิทธิเรียกสินสอด 
  3. เป็นการให้เพื่อตอบแทนที่ผู้หญิงยอมแต่งงานด้วย มอบให้แล้วกรรมสิทธิ์จะตกเป็นของพ่อแม่ หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิงทันทีโดยไม่ต้องรอให้มีการแต่งงานเกิดขึ้น

ถ้าให้เพื่อขอขมาที่ไปอยู่ด้วยกันก่อนแต่ง ให้เพื่อจะได้จัดพิธีแต่งงานแต่ไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนสมรสกัน เงิน ทอง ที่ให้ไปไม่เรียกว่า “สินสอด” ตามกฎหมายนะ เพราะการแต่งงาน คือ การจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1457 การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น

มาตรา 1437   การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง 

สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส 

ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้ 

ฝ่ายหญิงไม่มีพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ฝ่ายชายให้สินสอดเรียกว่าให้โดยสเน่หา

การให้โดยเสน่หาเป็นสัญญาที่ผู้ให้โอนทรัพย์สินของตนเองให้แก่ผู้อื่น เรียกว่า ผู้รับ โดยผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้ และการให้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อมีการส่งมอบของที่ให้ ตามมาตรา 521-523

เนื่องจาก สินสอดจะต้องเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายมอบให้พ่อ แม่ หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงเท่านั้น ดังนั้น การที่ฝ่ายหญิงตอบตกลงจะแต่งงานจดทะเบียนสมรสกันกับฝ่ายชายด้วยตัวเอง และเรียกสินสอดเอง ถึงแม้ฝ่ายชายจะมอบให้ตามที่ตกลงกันและเรียกว่าสินสอด แต่ตามกฎหมายจะถือเป็นทรัพย์สินที่ให้โดยเสน่หา ไม่ใช่สินสอดนะ

สินสอดจำเป็นแค่ไหน ต้องให้เสมอไปหรือไม่

เรื่องความจำเป็นในการให้สินสอดเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ขึ้นอยู่กับการตกลงกัน ว่าจะให้หรือไม่ให้ บางครอบครัวอาจไม่เรียกสินสอดเลยสักบาท แต่บางครอบครัวก็อาจเรียกสินสอดมากเกินไปจนทำให้ฝ่ายชายต้องยอมถอดใจไปเลยก็มี 

ซึ่งตามกฎหมายก็ไม่ได้ระบุเอาไว้ว่าจะต้องให้สินสอดจึงจะจดทะเบียนสมรสกันได้ ดังนั้น หากใครอยากแต่งงานกันโดยไม่มีค่าสินสอดก็สามารถทำได้ ไม่มีความผิดอะไร เพราะสินสอดไม่ใช่ประเด็นสำคัญในการสมรส แต่สิ่งที่สำคัญคือเจตนาของคน 2 คนว่ายินยอมเป็นสามี ภรรยากันหรือไม่

มาตรา 1458 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน และต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียน และให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย

ตกลงว่าจะแต่ง แต่ฝ่ายชายหนีงานแต่ง ฝ่ายหญิงยังมีสิทธิ์เรียกค่าสินสอดได้

ดังที่เราเคยทราบข่าวกันมาบ้าง กรณีเจ้าบ่าวล้มงานแต่ง โดยที่ฝ่ายเจ้าสาวไม่ได้ทำอะไรผิด ถึงแม้จะไม่มีการแต่งงานเกิดขึ้น แต่หากมีการตกลงกันว่าจะให้สินสอดเพื่อแต่งงานจดทะเบียนสมรสกัน ฝ่ายเจ้าสาวก็มีสิทธิเรียกร้องค่าสินสอดได้ตามกฎหมาย เพราะฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นคนผิดสัญญา ซึ่งจะถือเป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง โดยที่ฝ่ายหญิงต้องฟ้องเรียกค่าสินสอดเป็นคดีแพ่ง เพราะการตกลงว่าจะให้สินสอดนั้นเป็นสัญญาตามกฎหมาย ใครเป็นฝ่ายผิดสัญญาคนนั้นมีหน้าที่รับผิดชอบ ดังนั้น ตกลงว่าจะให้สินสอดก็ต้องหามาให้ตามที่สัญญาไว้ 

และนอกจากฝ่ายหญิงจะมีสิทธิ์เรียกค่าสินสอดได้แล้ว ยังสามารถเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเตรียมงานแต่งได้ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1140

มาตรา 1440 ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้

        (1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น

        (2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร

        (3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส

ให้สินสอดแล้วเอาคืนได้หรือเปล่า

อยากแต่งงานกัน ฝ่ายชายก็อดทน ประหยัด เก็บหอมรอมริบ หารายได้เพิ่มทุกทาง เพื่อให้ได้เงิน ทอง ตามจำนวนที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงเรียก แต่เมื่อให้ไปแล้วทำตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ทุกอย่าง แต่ต่อมาพบว่าฝ่ายหญิงไม่ต้องการแต่งงานจดทะเบียนสมรสด้วย แบบนี้ก็สามารถเรียกค่าสินสอดคืนได้ ตามมาตรา 1437 วรรค 3 ซึ่งสิทธิเรียกคืนค่าสินสอดจะเกิดได้ 2 กรณี คือ

  1. ถ้าไม่ได้สมรสกันเพราะมีเหตุที่ผู้ชายไม่สามารถหรือไม่สมควรสมรสกับผู้หญิง ซึ่งจะต้องเป็นเหตุที่กระทบกระเทือนถึงชีวิตคู่ที่จะมีต่อไปในอนาคต เช่น ผู้หญิงไปมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายคนอื่น เป็นต้น
  2. ถ้าไม่ได้สมรสกันเพราะความผิดของฝ่ายหญิง เช่น ทำพิธีไปแล้วผู้หญิงไม่ยอมจดทะเบียนสมรสด้วย หมั้นกันไว้แต่ผู้หญิงหนีไปไม่ติดต่อกลับมา เป็นต้น

แต่ถ้าแต่งงานกันไปแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็ไม่สนใจที่จะไปจดทะเบียนสมรสกัน หรือจดทะเบียนสมรสไปแล้วอยู่กันไม่ได้เลยจดทะเบียนหย่า ผู้ชายจะฟ้องเรียกค่าสินสอดคืนไม่ได้นะ และในกรณีที่หมั้นกันไว้แล้วแต่ไม่ได้แต่งเพราะมีใครคนใดคนหนึ่งเสียชีวิต กรณีนี้ก็ไม่สามารถเรียกค่าสินสอดคืนได้เช่นกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1441 

เอาสินสอดคืน แบบนี้มีความผิด

การจะเรียกสินสอดคืน ต้องพูดคุยตกลงกัน และให้อีกฝ่ายยอมคืนให้ด้วยตัวเอง หากไม่ยอมคืนก็สามารถใช้สิทธิฟ้องร้องกันได้ตามกฎหมาย ซึ่งการฟ้องเรียกสินสอด มีอายุความ 10 ปี

แต่ถ้าเอาคืนโดยการขโมย ข่มขู่ คุกคาม บังคับ ทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สินของอีกฝ่ายหรือผู้อื่น ถึงแม้ว่าจะทำไปเพราะตัวเองมีสิทธิ์เอาสินสอดคืนก็ตาม แต่การไปเอาคืนแบบนี้ก็จะมีความผิดตามกฎหมาย อีกฝ่ายสามารถดำเนินคดีอาญาได้และอาจเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้ด้วย ซึ่งจะเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา เช่น

  • ลักทรัพย์ แม่เจ้าสาวเอาสินสอดเก็บไว้ในตู้ แล้วเจ้าบ่าวแอบไขกุญแจตู้เอาสินสอดคืน แบบนี้จะมีความผิดฐานลักทรัพย์โดยมีสิ่งกีดกั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (3)
  • วิ่งราวทรัพย์ ขอคืนต่อหน้าแต่อีกฝ่ายไม่ยอมให้เลยเข้าไปแย่งเอามาต่อหน้าต่อตา โดยไม่มีการทำร้ายร่างกายหรือข่มขู่ หรือเอาไปโดยที่อีกฝ่ายมองเห็นว่ากำลังหยิบเอาไป แบบนี้จะมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336
  • ชิงทรัพย์ ขอคืนต่อหน้าเช่นกันแต่อีกฝ่ายไม่ยอมให้ เลยมีการทำร้ายร่างกาย เช่น ตบ ตี ต่อย กระทืบ มีการข่มขู่ แล้วแย่งเอาไป แบบนี้จะมีความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339
  • กรรโชกทรัพย์ ขอคืนแล้วแต่อีกฝ่ายไม่คืน จึงขู่ว่าถ้าไม่ให้คืนจะทำร้ายร่างกายคนนั้น คนนี้ จะทำลายทรัพย์สิน จะเผาบ้าน เผารถ จนอีกฝ่ายกลัวเลยยอมคืนสินสอดให้ แบบนี้จะมีความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337

การที่คน 2 คนจะแต่งงานกัน จดทะเบียนสมรสเป็นสามี ภรรยากันตามกฎหมาย และอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ต้องเกิดจากความรัก และความเข้าใจของคน 2 คน รวมถึงคนรอบตัวด้วย หากเริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยความบาดหมางก็คงเป็นเรื่องยากที่จะอยู่ด้วยกันได้ การเรียกค่าสินสอดก็เช่นเดียวกัน จะยึดถือเอาตามที่สังคมคาดหวังแล้วลำบากตัวเอง หรือเลือกตามความเหมาะสม อาจมีหรือไม่มีก็ได้ขึ้นอยู่กับความสบายใจของแต่ละครอบครัว สุดท้ายแล้วจะเลือกแบบไหนก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง เพราะชีวิตของแต่ละคนแต่งต่างกัน และการดำเนินชีวิตก็ไม่มีสูตรสำเร็จเช่นกัน

จะเห็นได้ว่า?! คดีลักษณะนี้มีความซับซ้อน
เราแนะนำให้เลือกใช้ทนายความที่มีประสบการณ์
หมดกังวลปัญหาทนายความทิ้งคดี
เช็คค่าใช้จ่ายได้ตั้งแต่ต้นจนจบโดย JusThat 

  1. แอดไลน์ @justhatapp
  2. ส่งหลักฐานให้ทนายความ
  3. เช็คแนวทางและค่าใช้จ่ายฟรี!
Line-Chat-Portrait

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท ตั้งแต่คลอดออกมาและอยู่รอดเป็นทารก คนคนนั้นจะมีสภาพเป็นบุคคล เมื่อมีสภาพบุคคลแล้วจะมีกองทรัพย์

Read More »

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าคุณได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นพยานศาล JusThat ได้นำข้อมูล หลักการปฏิบัติตัวในฐานะพยานศ

Read More »

รับช่วงสิทธิ คืออะไร

รับช่วงสิทธิ คืออะไร รับช่วงสิทธิ คืออะไร มีความสัมพันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างไร JusThat จะพาไปหาคำตอบและทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้เลย

Read More »