1

JusThat

กรรโชกทรัพย์
คืออะไร

ยุคนี้ใคร ๆ ก็อยากออกมาเป็นนายตัวเอง ทำอาชีพค้าขาย ขายของตามตลาดนัด หรือเปิดร้านตามอาคารพาณิชย์ หรือทำกิจการอื่น ๆ อีกมากมาย จึงต้องทำความเข้าใจการกรรโชคทรัพย์เอาไว้ให้ดี เพราะใครจะรู้ว่าบางทีก็มีเจ้าถิ่น หรือมาเฟียคอยข่มขู่คนอื่นเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ถ้าใครไม่ให้ก็อาจได้รับอันตราย ทำให้หลายคนต้องยอมให้สิ่งที่เขาอยากได้ไป พอให้ไปแล้วก็ต้องให้อีกเรื่อย ๆ ถ้ากำลังเจอสถานการณ์แบบนี้ แปลว่าคุณโดนกรรโชกทรัพย์เข้าแล้ว!

กรรโชคทรัพย์ คือ การที่ใครก็ตามไปข่มขู่ บังคับคนอื่นให้กลัวจนยอมให้ หรือยอมที่จะผลให้ประโยชน์ต่าง ๆ ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินกับตัวเองหรือคนอื่น เช่น

  • ขู่ว่าจะจับข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าไม่จ่ายค่าคุ้มครอง
  • ขู่ว่าจะทำร้ายพนักงานลานจอด ถ้ามาเก็บค่าบริการจอดรถ
  • พกปืนมาขู่ ว่าจะตามไปทำร้ายถึงบ้าน จะตามไปก่อกวน ถ้าไม่ให้กินอาหารในร้านฟรี
  • ขู่ว่าจะเผาโรงแรม ถ้าไม่ให้เข้าพักฟรี
  • ขู่ว่าจะตามไปทำร้าย ถ้ายื่นซองประมูลงานเดียวกัน
  • ไม่ให้จอดรถบนที่สาธารณะ ต้องไปจอดที่อื่นถ้าไม่ยอมจ่ายเงิน
  • ส่งจดหมายไปข่มขู่ เพื่อจะเอาที่ดินของคนอื่น ถ้าไม่ให้จะทำร้าย

ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ไม่จำเป็นต้องเป็นเงิน สิ่งของ หรือทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินด้วย เช่น แทนที่จะเสียค่าที่จอดรถก็เหลือเงินค่าที่จอดรถเข้ากระเป๋า ไม่เสียค่าเช่าโรงแรมก็เหมือนได้เงินค่าที่พักคืนมาจากโรงแรม

กรรโชกทรัพย์
มีอะไรบ้าง

การกรรโชคตัวเปล่า ไม่มีอาวุธมาข่มขู่และไม่ขู่เกี่ยวกับร่างกาย เช่น ขู่ว่าจะทุบรถ ขู่ว่าจะพังร้าน ขู่ว่าจะเอาของมีค่าไป คือ กรรโชกทรัพย์ธรรมดา 

แต่ถ้าขู่ว่าจะทำร้ายร่างกาย ขู่จะฆ่า หรือขู่จะเผา วางเพลิงของของเรา หรือพกอาวุธมาด้วย จะมีการใช้หรือไม่ใช้อาวุธก็ตามจะเป็นกรรโชกทรัพย์โดยเหตุฉกรรจ์ เพราะมีความร้ายแรงมากกว่าการไปข่มขู่ธรรมดา ทำให้มีโทษหนักกว่าการกรรโชกทรัพย์ธรรมดา

กรรโชกทรัพย์
กับการทำผิดต่อเสรีภาพ

การข่มขู่ บังคับขู่เข็ญเอาผลประโยชน์จากคนอื่นมีความผิดต่อเสรีภาพเสมอ และการกรรโชคทรัพย์มีพื้นฐานมาจากการทำความผิดต่อเสรีภาพ แต่มีข้อแตกต่างกันนะ…

  • กรรโชคทรัพย์ เป็นการขู่ว่าจะทำอันตราย ทำให้คนโดนขู่กลัว เพื่อเอาประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน
  • ความผิดต่อเสรีภาพ เป็นการขู่ให้กลัวว่าจะเกิดอันตราย ทำให้คนโดนขู่กลัว เพื่อให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือให้ยอมอะไรก็ตามที่ถูกขู่จะเอา

ถ้าคนร้ายต้องการให้เราทำอะไรสักอย่างให้ ขู่จนเกิดความกลัวว่าถ้าเราไม่ทำจะเกิดอันตรายขึ้น เลยยอมทำตามที่คนร้ายต้องการ จะถือเป็นการทำผิดต่อเสรีภาพ เช่น ขู่บังคับให้เซ็นเอกสาร ขู่บังคับให้ขับรถไปตามที่คนร้ายบอก  แต่ถ้าไม่กลัว ไม่ทำ จะมีความผิดฐานพยายามทำผิดต่อเสรีภาพ

แต่ถ้าคนร้ายต้องการผลประโยชน์ในลักษณะของทรัพย์สิน แล้วเรากลัวยอมให้ไป หรือตกลงว่าจะให้ อาจจะให้ทั้งหมดหรือให้แค่บางส่วนก็ได้ คนที่มาข่มขู่จะมีความผิดฐานกรรโชคทรัพย์ทันที แต่ถ้าเราไม่กลัว ไม่ยอม จะเป็นความผิดฐานพยายามกรรโชคทรัพย์ 

ดังนั้น การขู่ให้คนอื่นทำอะไร อยากได้อะไร และคนถูกข่มขู่จะยอมหรือไม่ยอมก็ตาม คนที่บังคับ ขู่เข็ญคนอื่นจะมีความผิดเสมอไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง

กรรโชกทรัพย์
กับ ชิงทรัพย์

กรรโชคทรัพย์กับชิงทรัพย์ ฟังดูคล้ายแทบจะเหมือนกัน ข่มขู่เอาเหมือนกัน แต่เราสามารถแยกความแตกต่างได้ไม่ยาก เพราะสองอย่างนี้มีพื้นฐานความผิดที่แตกต่างกัน…

 

  • ชิงทรัพย์ มีพื้นฐานมาจากการลักทรัพย์ ต้องแย่งเอาของไปเลยในทันที ด้วยการขู่ว่าจะทำร้ายร่างกาย ชีวิต หรือทำร้ายร่างกายเพื่อแย่งเอาของไปเลยในทันที และของที่เอาไปต้องเป็นของที่เราจับต้องได้ มีรูปร่าง
  • กรรโชกทรัพย์ มีพื้นฐานมาจากการทำผิดต่อเสรีภาพ ขู่แล้วกลับมาเอาทีหลัง หรือเอาไปเลยก็ได้ เพราะเป็นการทำให้กลัวจนยอมที่จะให้ไม่ใช่การแย่งเอามา อาจมีการทำร้ายร่างกายจนเหยื่อยอมให้ หรือขู่ว่าจะทำอะไรก็ได้ เช่น ขู่ว่าจะเผาร้าน ขู่ว่าจะทุบรถ ขู่ว่าจะตามไปกระทืบ และสิ่งที่ต้องการอาจไม่ใช่สิ่งของที่จับต้องได้ แต่รวมไปถึงประโยชน์อย่างอื่นที่ถือเป็นทรัพย์สินอีกด้วย

ทั้งการชิงทรัพย์และกรรโชกทรัพย์ถือเป็นอาญาแผ่นดิน มีโทษหนักและยอมความไม่ได้ ดังนั้นถ้าจะทำก็ต้องคิดให้ดี ไม่ว่าจะถูกหัวหน้าสั่งให้ไปทำ ไปกรรโชกให้คนสนิท หรือทำไปเพราะอยากทำเอง สุดท้ายคนทำก็ต้องรับโทษ เสียเวลา และเสียอนาคตได้

กรรโชกทรัพย์
มีโทษยังไง

ความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ มีกำหนดไว้ในมาตรา 337 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งระบุไว้ว่า ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท

ถ้าความผิดฐานกรรโชกทำโดย

  1. ขู่ว่าจะฆ่า ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายผู้ถูกข่มขืนใจ หรือผู้อื่นให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือขู่ว่าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น หรือ
  2. มีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ

ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 140,000 บาท

รู้หรือไม่?! ยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรงได้ จะทำให้เรื่องถึงชั้นศาลได้เร็วขึ้น
JusThat ค่าบริการปรึกษาเริ่มต้น 1,500 บาท บริการส่งฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา

  1. แอดไลน์ @justhatapp
  2. เริ่มต้นทำแบบประเมิน
  3. หากต้องการ ส่งฟ้องได้ทันที
Line-Chat-Portrait

กรรโชกทรัพย์
มีอายุความกี่ปี

ความผิดฐานกรรโชกทรัพย์เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ยอมความไม่ได้ ใครก็แจ้งความแทนได้ และตำรวจสามารถดำเนินคดีได้เลยทันทีโดยไม่ต้องมีคนร้องทุกข์ก็ได้ และมีอายุความที่นานถึง 10 ปีเลยทีเดียว ซึ่งมีการระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 ว่าในคดีอาญาถ้าไม่ได้ฟ้องและได้ตัวคนทำความผิดมายังศาลภายในกำหนด นับแต่วันทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ ซึ่งการกรรโชคทรัพย์มีอายุความ 10 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า 1 ปี ถึง 7 ปี

กรรโชกทรัพย์
ทวงหนี้โหดมีความผิด

กู้หนี้นอกระบบ เงินกู้ออนไลน์ ยืมคนรู้จัก แต่กลับเจอทวงหนี้โหด เป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ได้ยังไง ?

การกู้ยืมกัน ถ้าทวงแล้วลูกหนี้ไม่ยอมจ่าย เจ้าหนี้ต้องใช้สิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลเท่านั้น จะไปบังคับ ขู่เข็ญ ทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สิน เพื่อให้ลูกหนี้ยอมจ่ายหนี้ไม่ได้ ซึ่งการทวงหนี้นอกกรอบที่กฎหมายกำหนด คนทำจะมีความผิดอาญา ไม่ว่าจะเป็นหมิ่นประมาท ดูหมิ่นซึ่งหน้า ทำให้เสียทรัพย์ หรืออื่น ๆ แล้วแต่กรณี และการข่มขู่ คุกคาม เพื่อน ญาติ พ่อแม่ พี่น้อง หรือตัวลูกหนี้ให้เกิดความกลัวจนยอมจ่ายหนี้ให้ ถือเป็นความผิดอาญาฐานกรรโชกทรัพย์

แต่เวลาหมดหนทางจริง ๆ บางครั้งก็อาจต้องหันหน้าไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ ที่นอกจากดอกเบี้ยจะสูงเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดแล้ว ถ้าผิดนัด ไม่มีจ่าย ก็เจอทวงหนี้โหด ทวงหนี้เถื่อน เงินกู้ดอกโหด ทวงหนี้ประจาน ตามด่าทอ หรือแอพทวงหนี้โหดที่คอยตามข่มขู่ คุกคาม ทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สิน

ถ้าใครกำลังตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ หรือเป็นเจ้าหนี้การทวงหนี้โหดคงไม่ใช่ทางออกที่ดี นอกจากจะเสี่ยงคุกแล้ว อาจต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ลูกหนี้ด้วย ดังนั้น การเรียกร้องให้มีการชำระหนี้ตามกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่ปลอดภัยที่สุด ถ้าลูกหนี้ไม่ยอมจ่ายก็มีสิทธิฟ้องให้ลูกหนี้จ่ายได้ หรือลูกหนี้ถูกทำร้าย ทำลายทรัพย์สิน ข่มขู่ คุกคาม ก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ หรือฟ้องศาลเองก็สามารถทำได้นะ

JusThat – รู้โอกาสแพ้ชนะ
ฟ้องแล้วคุ้ม? ภายใน 5 นาที

1

Bangkok, Thailand 
Line @justhatapp