รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท
รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท ตั้งแต่คลอดออกมาและอยู่รอดเป็นทารก คนคนนั้นจะมีสภาพเป็นบุคคล เมื่อมีสภาพบุคคลแล้วจะมีกองทรัพย์
สัญญาเกิดขึ้นได้เพราะมีคน 2 ฝ่ายขึ้นไปร่วมทำสัญญากัน ไม่ว่าจะเป็นสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาจ้างแรงงาน สัญญาจ้างทำของ สัญญาจ้างรับเหมาก่อสร้างต่อเติมบ้าน สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่า แต่เมื่อมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ทำตามสัญญา หรือมีการละเมิดกันเกิดขึ้นแต่ฝ่ายที่ทำไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหาย แบบนี้ก็อาจมีข้อโต้แย้งกัน(ข้อพิพาท)เกิดขึ้นได้ และวิธีหนึ่งที่จะทำให้ต่างฝ่ายต่างตกลงกันได้และจะไม่มีข้อโต้แย้งในเรื่องเดิมเกิดขึ้นอีก ก็คือการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน
แล้วการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ คืออะไร ทำแบบไหนจึงจะเรียกว่าเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ สัญญาประนีประนอมยอมความมีกี่แบบ ทำสัญญายอมไปแล้วจะมีผลผูกพันอะไรตามมา บทความนี้ JusThat รวบรวมสิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับการทำสัญญาประนีประนอมยอมความมาไว้ให้แล้ว
สัญญาประนีประนอมยอมความ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Settlement agreement หรือ Compromise agreement เป็นสัญญาที่ทำขึ้นเพื่อระงับปัญหาข้อขัดแย้งที่คู่กรณีมีต่อกัน หรืออาจมีขึ้นมาในอนาคต โดยที่ต่างฝ่ายต่างสมัครใจถอยคนละก้าวสองก้าว ต่างฝ่ายต่างยินยอมประนีประนอมกัน มีข้อตกลงร่วมกันเพื่อยุติความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่ายให้เสร็จสิ้นไป
แปลว่า มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในเรื่องไหน เรื่องนั้นก็จะมีข้อสรุปตามสัญญาที่ทำขึ้นเลย คู่สัญญาต้องทำตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาที่ทำขึ้นและจะไม่มีการนำเรื่องเดิมที่ยอมความกันไปแล้วมาโต้เถียงกันอีกในอนาคต
แต่ถ้าเป็นสัญญาที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมอยู่ฝ่ายเดียว แบบนี้จะไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความแต่จะเป็นสัญญาชนิดอื่นแทน ซึ่งจะเป็นสัญญาอะไรก็ต้องดูข้อตกลงในสัญญานั้นเป็นกรณีไป
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 850 อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
สัญญาประนีประนอมยอมความนอกศาล คือการยอมผ่อนผันให้กันและทำสัญญากันขึ้นนอกศาล ถ้ายังไม่มีการฟ้องคดีต่อศาลและไม่อยากให้เรื่องไปถึงศาล คู่กรณี 2 ฝ่ายก็สามารถทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเองได้ และกรณีที่มีการฟ้องศาลไปแล้วแต่คู่กรณีต้องการทำสัญญาประนีประยอมความกันเองก็ยังสามารถทำได้เช่นกัน
เมื่อเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความนอกศาลก็เท่ากับว่าศาลไม่รู้ว่ามีการทำสัญญานี้ขึ้น ดังนั้นถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ทำตามสัญญาประนีประนอมยอมความกัน อีกฝ่ายก็ต้องไปฟ้องศาลตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำขึ้นใหม่
สัญญาประนีประนอมยอมความในศาล คือการทำสัญญายอมหลังจากมีการฟ้องศาลไปแล้วและต่างฝ่ายต่างตกลงกันได้ ยอมลดราวาศอกให้อีกฝ่าย โดยมีการทำสัญญากันต่อหน้าศาล เมื่อทำสัญญาแล้วศาลจะพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้ เรียกว่า “พิพากษาตามยอม”
ถ้าอีกฝ่ายไม่ทำตามสัญญาคู่ความก็สามารถบังคับคดีได้เลย ไม่ต้องไปฟ้องใหม่เพราะมีการฟ้องและศาลพิพากษาแล้ว ถ้าไปฟ้องอีกก็จะกลายเป็นฟ้องซ้ำ
การทำสัญญาประนีนอมยอมความให้มีผลผูกพันกันตามกฎหมาย คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายจำเป็นต้องทำสัญญาเป็นหนังสือระบุรายละเอียดให้ชัดเจนว่ามีการตกลงอะไรกัน ใครจะได้อะไร เท่าไหร่ แค่ไหน ยังไง ใครต้องทำอะไร ใครจะต้องไม่ทำอะไร และต้องลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบด้วยถึงจะนำไปฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ถ้าทำสัญญาขึ้นมาไว้แต่ฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบใช้หนี้ไม่ได้ลงลายมือชื่อ หรือตกลงกันปากเปล่าเฉย ๆ แบบนี้จะไปฟ้องให้อีกฝ่ายทำตามสัญญาไม่ได้เลย
ตัวอย่าง A กู้ยืมเงิน B 50,000 บาท ครบกำหนดแล้วแต่ A ไม่มีเงิน 50,000 มาจ่าย B และ A เลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันให้ A ผ่อนจ่ายได้ 20 งวด งวดละ 2,500 บาท และ A จะให้ดอกเบี้ยด้วย แต่ A และ B แค่ตกลงกันปากเปล่า พอกลับถึงบ้าน A ก็ส่งหนังสือที่มีข้อความที่ตกลงกันพร้อมเซ็นชื่อส่งไปให้ B แบบนี้ B สามารถนำสัญญาที่ A ส่งให้ไปฟ้องศาลได้ ถ้า A ไม่จ่ายหนี้ตามที่ตกลงกันใหม่
มาตรา 851 อันสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
จากเดิมเจ้าหนี้อาจมีสิทธิเรียกร้องเงินต้น 100,000 บาท แต่ดูแล้วลูกหนี้ก็หามาจ่ายไม่ไหว จะทำยังไงให้ลูกหนี้หาเงินมาจ่ายหนี้กู้ยืมเงินได้ ส่วนทางลูกหนี้เองก็รู้ว่าตัวเองเป็นหนี้และหนี้นั้นหนักเกินที่จะจ่ายทีเดียวหมด ทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ก็อาจตกลงกันว่าจ่ายแค่ 80,000 บาท แล้วผ่อนจ่ายเดือนละ 10,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย นาน 8 เดือน แบบนี้สิทธิเรียกร้องเงินต้น 100,000 บาทของเจ้าหนี้ก็จะหมดไป แต่ได้สิทธิเรียกเงิน 80,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยที่ตกลงกันในสัญญามาแทน และลูกหนี้ก็ต้องทำหน้าที่ตามสัญญาที่ตกลงกันใหม่ด้วย ถ้าลูกหนี้ไม่ทำตามสัญญาเจ้าหนี้ก็มีสิทธิไปฟ้องคดีแพ่งต่อศาลได้
ทั้งนี้ คู่สัญญาไม่จำเป็นต้องสละสิทธิทุกข้อที่ตัวเองมีอยู่นะ ตกลงกันได้แค่ไหนก็สละสิทธิแค่นั้น จะสละหมดหรือสละแค่บางสิทธิที่มีอยู่ก็ได้ สิทธิไหนที่ไม่ได้สละสิทธินั้นยังมีอยู่ ส่วนสิทธิไหนที่สละไปแล้วสิทธินั้นจะหมดไปและจะได้สิทธิตามสัญญาที่ทำขึ้นใหม่มาแทน
มาตรา 852 ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน
สุดท้ายนี้ การทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต้องไม่มีข้อตกลงที่ขัดต่อกฎหมาย เช่น A ทำสัญญาประนีประนอมยอมความรับเงินจาก B และจะไม่ไปดำเนินคดีลักทรัพย์ซึ่งเป็นคดีอาญาแผ่นดินกับ B สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำขึ้นด้วยจุดประสงค์แบบนี้จะไม่มีผลตั้งแต่ต้น(เป็นโมฆะ) ใช้บังคับกันไม่ได้นะ
มาตรา 150 การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ
รู้หรือไม่?! ฟ้องศาลด้วยตัวเองได้สำหรับคดีแพ่งที่ไม่ซับซ้อน
JusThat บริการฟ้องด้วยตัวเอง
ค่าบริการปรึกษาเริ่มต้น 1,500 บาท
ประหยัดค่าทนายความได้หลายหมื่นบาท
รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท ตั้งแต่คลอดออกมาและอยู่รอดเป็นทารก คนคนนั้นจะมีสภาพเป็นบุคคล เมื่อมีสภาพบุคคลแล้วจะมีกองทรัพย์
พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าคุณได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นพยานศาล JusThat ได้นำข้อมูล หลักการปฏิบัติตัวในฐานะพยานศ
รับช่วงสิทธิ คืออะไร รับช่วงสิทธิ คืออะไร มีความสัมพันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างไร JusThat จะพาไปหาคำตอบและทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้เลย
Bangkok, Thailand
Line @justhatapp
Bangkok, Thailand
Line @justhatapp