พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล
พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าคุณได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นพยานศาล JusThat ได้นำข้อมูล หลักการปฏิบัติตัวในฐานะพยานศ
การรับของโจรเป็นการกระทำความผิดที่มีโทษทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 และกฎหมายมองว่าการรับของโจรเป็นการสนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิด ลัก วิ่ง ชิง ปล้น กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก และเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดฐานรับของโจร จึงมักถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษโดยไม่รอลงอาญา
อย่างไรก็ตาม การกระทำความผิดอาญาฐานรับของโจร ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยจะต้องมีเจตนาช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้ และรู้ว่าทรัพย์นั้นได้มาจากการกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดไว้ด้วย คือ ลักทรัพย์ วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก และเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ จึงจะครบองค์ประกอบความผิดฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59
ถ้าเป็นการรับไว้โดยไม่รู้ว่าทรัพย์นั้นได้มาการกระทำความผิด 9 มูลฐานความผิดตามที่กล่าวไว้ก่อนหน้า เป็นการรับไว้โดยขาดเจตนา แค่รับไว้ในการครอบครองเฉย ๆ ถูกกลั่นแกล้ง ถูกหลอกให้ดูแลของโจร แบบนี้ถือว่าขาดเจตนาในทางกฎหมายอาญาจะไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร
และสิ่งที่ศาลจะนำมาพิจารณาว่าจำเลยมีเจตนารับของโจร หรือรู้หรือไม่รู้ว่าทรัพย์นั้นได้มาจากการกระทำความผิดหรือไม่ ศาลจะพิจารณาตามพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น จำเลยรับซื้อทรัพย์นั้นในราคาต่ำหรือสูงเกินจริงไปมากหรือเปล่า มีความชำรุดบกพร่องที่เกิดกับทรัพย์นั้นจนผิดสังเกตไหม มีข้อพิรุธที่ควรรู้ว่าทรัพย์นั้นได้มาจากการการกระทำความผิดหรือไม่ เช่น ไม่มีเอกสารทางทะเบียนมาแสดง รับซื้อรถโดยไม่มีเล่มทะเบียน รับซื้อปืนที่ถูกขูดเลขทะเบียนออก เป็นต้น
ซึ่งโจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ว่าจำเลยรู้ว่าทรัพย์สินที่รับมานั้นได้มาจากการกระทำความผิด ถ้าโจทก์ชี้ให้ศาลเห็นไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนา รู้เห็นว่าทรัพย์นั้นได้มาจากการกระทำความผิดจริง กรณีนี้จะต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย เพราะยังมีข้อสงสัยว่าจำเลยทำความผิดจริงหรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14359/2558
ในคดีความผิดฐานรับของโจรนั้น โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 รับทรัพย์ของกลางไว้ โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ใช่ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ของกลางนั้น จำเลยที่ 1 จะต้องนำสืบแก้ตัวว่าตนไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับแหวนทองฝังเพชรรูปข้าวหลามตัด 1 วง กล่องทองเหลืองรูปทรงกลมมีข้อความ “นครหลวงไทย” 3 กล่อง ตะกรุด 4 อัน และพระเครื่อง 50 องค์ ของกลาง โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ลำพังคำรับของจำเลยที่ 1 ที่ว่าจำเลยที่ 1 ได้ซื้อทรัพย์สินดังกล่าวมาจากชายคนหนึ่ง และคำรับของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ก็เป็นเพียงพยานบอกเล่า แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้ให้การปฏิเสธในชั้นศาลว่าจำเลยที่ 1 ไม่รู้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด พยานหลักฐานโจทก์จึงยังมีข้อสงสัยอยู่ตามสมควรว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8816/2563
จำเลยรับซื้อทองคำของโจทก์โดยไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดข้อหาลักทรัพย์ แม้จะไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร แต่เมื่อทองคำที่จำเลยรับซื้อไว้เป็นของโจทก์ จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ติดตามเอาคืนได้ และแม้ห้างขายทองของจำเลยจะอยู่ในชุมชนการค้า แต่จำเลยมิได้ซื้อทองจากร้านค้า เพราะซื้อจาก ว. ที่นำมาขาย ถือไม่ได้ว่าซื้อทองคำในท้องตลาด จำเลยต้องคืนทองคำแก่โจทก์วัตถุแห่งหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ได้แก่ทองคำที่จำเลยรับซื้อไว้ เมื่อไม่ปรากฏว่า การปฏิบัติการชำระหนี้ด้วยการคืนทองคำเป็นการพ้นวิสัยตั้งแต่เมื่อใด จึงกำหนดให้ใช้ราคาตามราคาขายโดยเฉลี่ยของสมาคมค้าทองคำในวันฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยในขณะที่โจทก์ร้องขอให้ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 อันได้แก่วันฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7387/2558
การที่จำเลยที่ 1 ครอบครองพระหลวงพ่อฤาษีลิงดำองค์ใหญ่ทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งถูกคนร้ายลักไปแล้วอ้างว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้รับยกให้จากบิดาซึ่งเป็นความเท็จ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับทรัพย์ดังกล่าวมาโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยกระทำความผิด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก ซึ่งแตกต่างจากความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ที่โจทก์ฟ้อง กรณีเป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง แต่ข้อที่แตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียดคือต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์กับรับของโจรซึ่งมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยที่ 1 มิได้หลงต่อสู้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับของโจรตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตามความใน ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3392/2556
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายแล้วนำมาแบ่งกันที่บ้านของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 ได้รับทรัพย์ของผู้เสียหายไว้เพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานรับของโจร แม้โจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานนี้ แต่กรณีถือได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องระหว่างการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์กับรับของโจร มิให้ถือว่าต่างกันในสาระสำคัญ ทั้งจำเลยที่ 4 มิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานรับของโจรได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 357 ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำเพื่อค้ากำไรหรือได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 (10) ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ การชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ทวิ หรือการปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 ทวิ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท
มาตรา 59 บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย
จะเห็นได้ว่า?! คดีลักษณะนี้มีความซับซ้อน
เราแนะนำให้เลือกใช้ทนายความที่มีประสบการณ์
หมดกังวลปัญหาทนายความทิ้งคดี
เช็คค่าใช้จ่ายได้ตั้งแต่ต้นจนจบโดย JusThat
พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าคุณได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นพยานศาล JusThat ได้นำข้อมูล หลักการปฏิบัติตัวในฐานะพยานศ
รับช่วงสิทธิ คืออะไร รับช่วงสิทธิ คืออะไร มีความสัมพันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างไร JusThat จะพาไปหาคำตอบและทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้เลย
3 สิ่งต้องรู้ ก่อนหมดตัวเพราะไปค้ำประกันให้คนอื่น ว่าด้วยเรื่องการค้ำประกัน เป็นปกติที่เจ้าหนี้ต้องการให้มีคนค้ำประกัน กรณีลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินที่มีม
Bangkok, Thailand
Line @justhatapp
Bangkok, Thailand
Line @justhatapp