1

JusThat

เบิกความเท็จ มีโทษอย่างไร
ทำแบบไหนจึงจะเข้าข่ายเบิกความเท็จ

ในการฟ้องศาลแต่ละครั้งนอกจากพยานหลักฐานที่นำไปยื่นต่อศาลแล้ว ยังต้องมีการเบิกความเพื่ออธิบายข้อเท็จจริงให้ศาลเข้าใจถึงที่มาที่ไปของเรื่องราวทั้งหมดด้วย ไม่ว่าคดีนั้นจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาก็ตาม 

หากทุกอย่างที่เบิกความต่อศาลนั้นเป็นความจริง พยานผู้เบิกความก็ไม่ต้องรับโทษอะไร แต่บางคนก็อาจใช้วิธีการเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลเพื่อให้ฝ่ายตัวเองชนะคดีก็มี จากที่ต้องสู้กันคดีแพ่งผิดสัญญาทั่วไปก็อาจกลายเป็นต้องไปสู้กันในคดีอาญาฐานเบิกความเท็จแทน หรือสู้กันในคดีอาญาอยู่แล้วแต่สุดท้ายเรื่องก็ไม่จบเพราะต้องไปสู้กันในคดีใหม่อีก

แล้วการเบิกความเท็จ คืออะไร ทำแบบไหนจึงเข้าข่าย ถ้าอยากรู้อ่านบทความนี้ของ  JusThat  ต่อด้านล่างได้เลย

Facebook
Twitter
LinkedIn

องค์ประกอบความผิดฐานเบิกความเท็จ

ความผิดฐานเบิกความเท็จต้องเป็นข้อสำคัญในคดี

  1. ต้องเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล
  2. มีเจตนาเบิกความเท็จ คือรู้อยู่แล้วว่าข้อความที่นำมาเบิกความนั้นเป็นเท็จ
  3. ต้องเป็นข้อสำคัญในคดี คือมีผลทำให้แพ้ชนะคดีกันได้โดยอาศัยคำเบิกความอันเป็นเท็จเท่านั้น

ประมวลกฎหมายอาญา 

มาตรา 177 ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญา ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท

เบิกความเท็จโดยไม่รู้ว่าเป็นความเท็จ ผู้เบิกความไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ

กรณีไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ

  1. ไม่รู้ว่าเป็นความเท็จ
  2. เบิกความ ไปตามความจริงที่ตนเองรู้เห็นจริง หรือได้รับข้อมูลมา โดยไม่ได้บิดเบือนความจริง
  3. ข้อความที่เป็นเท็จไม่ใช่ข้อสาระสำคัญในคดี และไม่ทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลคดีได้ 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา คดีเบิกความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 984/2550
แม้ในคดีก่อนจำเลยเบิกความโดยเชื่อและสงสัยว่าโจทก์เป็นผู้ลักเอาทรัพย์ไป เนื่องจากขณะเกิดเหตุมีโจทก์และจำเลยอยู่ในบ้านพักจำเลยเพียง 2 คน แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนเกิดเหตุ 1 วัน จำเลยหลงลืมสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองที่อ้างว่าได้หายไปไว้ที่บ้าน ร. โดยในวันรุ่งขึ้นจำเลยทราบทางโทรศัพท์จาก บ. และจำเลยไปรับทรัพย์ของจำเลยที่อ้างว่าได้หายไปคืนจาก บ. จากนั้นจำเลยก็ไปแจ้งให้พนักงานสอบสวนบันทึกเรื่องการได้รับทรัพย์คืนไว้เป็นหลักฐานในวันเดียวกัน ทั้งจำเลยยังไปขอโทษโจทก์และเป็นผู้ประกันตัวโจทก์ในระหว่างสอบสวน ต่อมาจำเลยก็พยายามบรรเทาผลร้ายดังกล่าวด้วยการเสนอชดใช้ค่าทำขวัญเป็นเงิน 30,000 บาท ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์เรียกร้องเป็นเงินถึง 600,000 บาท จึงตกลงกันไม่ได้ 

ตามพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยเท่ากับเป็นการยอมรับว่าจำเลยเข้าใจโจทก์คลาดเคลื่อนไปจากความจริง จึงมิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นคนร้ายลักทรัพย์ของจำเลยไป แม้หลังจากจำเลยรู้ความจริงแล้ว จำเลยมิได้ถอนคำร้องทุกข์ดังที่โจทก์ฎีกา ก็น่าจะเป็นเพราะจำเลยรู้ว่าคดีนั้นเป็นความผิดต่อแผ่นดินไม่อาจถอนคำร้องทุกข์ได้จึงไม่เป็นข้อพิรุธ ทั้งในคดีก่อนศาลชั้นต้นก็มิได้วินิจฉัยว่าจำเลยปั้นแต่งเรื่องขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งปรักปรำกล่าวหาโจทก์และคำเบิกความของจำเลยไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ดังนี้ จึงถือไม่ได้ว่าคำเบิกความของจำเลยในคดีก่อนเป็นข้อสำคัญในคดี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9330/2557
คดีก่อน บริษัท ย. ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้ว่า ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าที่ดินงวดเดือนกรกฎาคม 2551 ส่วนโจทก์ให้การต่อสู้ว่า ในทางปฏิบัติ บริษัท ย. จะต้องส่งใบแจ้งหนี้ก่อนแล้วโจทก์จึงจะชำระค่าเช่า แต่ในงวดดังกล่าวบริษัท ย. ไม่ได้ส่งใบแจ้งหนี้ ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่ายังค้างชำระค่าเช่าอยู่ จึงนำเงินไปชำระค่าเช่าในภายหลัง คำให้การของโจทก์ในคดีก่อนเท่ากับรับว่าตนชำระค่าเช่างวดเดือนกรกฎาคม 2551 หลังจากครบกำหนดชำระไปแล้ว แต่มีข้อเถียงโดยยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ว่า แม้โจทก์จะชำระล่าช้าแต่ก็มิได้ผิดนัดเพราะบริษัท ย. ยังไม่ได้ส่งใบแจ้งหนี้ให้แก่ตนตามที่เคยปฏิบัติ ฉะนั้นประเด็นแห่งคดีในคดีก่อนจึงมีว่า บริษัท ย. จะต้องออกใบแจ้งหนี้ค่าเช่างวดดังกล่าวให้แก่โจทก์เสียก่อนแล้วโจทก์จึงจะต้องชำระค่าเช่า หรือไม่ 

ดังนั้น คำเบิกความของจำเลยในคดีก่อนที่ว่า โจทก์ชำระค่าเช่างวดเดือนกรกฎาคม 2551 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2551 อันเป็นการผิดนัดชำระค่าเช่า ทำให้สัญญาเช่าสิ้นสุดลง จึงไม่ใช่ข้อสำคัญในคดี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 558/2548
ความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177 นั้น ข้อความเท็จที่ได้เบิกความต่อศาลในการพิจารณาคดีจะต้องเป็นข้อสำคัญในคดีจึงจะเป็นความผิดฐานดังกล่าว ซึ่งหมายถึงต้องเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างแท้จริงถึงขนาดมีผลทำให้แพ้ชนะคดีกันได้โดยอาศัยคำเบิกความอันเป็นเท็จนั้น 

แต่ตามคดีแพ่งของศาลชั้นต้นซึ่งโจทก์ถูก ท. ฟ้องเรียกเงินคืน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ ท. ผู้เป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวชนะคดีโดยอาศัยพยานเอกสารในคดีเป็นสำคัญ ส่วนคำเบิกความของพยานบุคคลนั้น เพียงแต่นำมารับฟังประกอบพยานเอกสารเท่านั้น และวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าโดยมิได้นำคำเบิกความของจำเลยนี้มาเป็นข้อวินิจฉัยให้มีผลเป็นการแพ้ชนะกัน ข้อความที่จำเลยเบิกความดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อสำคัญในคดี ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานเบิกความเท็จได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2614/2562
คดีอาญาของศาลแขวงพระนครใต้ โจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ฟ้องจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) ว่า จำเลยได้ดูหมิ่นโจทก์ซึ่งหน้าและใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ ต่อหน้าโจทก์ ป. ภ. อ. และ ส. ซึ่งเป็นบุคคลที่สามโดยจำเลยกล่าวถ้อยคำใส่ความโจทก์ว่า “โจทก์เป็นคนโกหก” “โจทก์เป็นคนคดโกง” “โจทก์เป็นคนไม่ดี” “สาปแช่งโจทก์ให้ไฟไหม้” “ชื่อเสียงโจทก์เหม็นเน่า” “โจทก์ไม่จ่ายค่าส่วนกลาง” 
เมื่อคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้พูดถ้อยคำที่โจทก์กล่าวหาในฟ้องดังกล่าวจึงเป็นอันยุติ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีดังกล่าวจึงเป็นการเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา และการที่โจทก์กับนางมะเกลือ (จำเลยที่ 3 ในคดีนี้) เบิกความว่าจำเลยพูดถ้อยคำตามที่โจทก์กล่าวหาในคดีดังกล่าวก็เป็นการเบิกความอันเป็นเท็จซึ่งเป็นข้อสำคัญในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงกระทำความผิดตามฟ้อง
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 (เดิม) ประกอบมาตรา 83, มาตรา 177 วรรคสอง (เดิม) การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฟ้องเท็จ จำคุก 6 เดือน ฐานเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญา จำคุก 8 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 14 เดือน จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง จำคุก 8 เดือน

JusThat บริการฟ้องด้วยตัวเอง 
ค่าบริการปรึกษาเริ่มต้น 1,500 บาท 
ประหยัดค่าทนายความได้หลายหมื่นบาท

  1. แอดไลน์ @justhatapp
  2. เช็คโอกาสชนะและค่าใช้จ่าย
  3. หากต้องการ ส่งฟ้องได้ทันที
Line-Chat-Portrait

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท ตั้งแต่คลอดออกมาและอยู่รอดเป็นทารก คนคนนั้นจะมีสภาพเป็นบุคคล เมื่อมีสภาพบุคคลแล้วจะมีกองทรัพย์

Read More »

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าคุณได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นพยานศาล JusThat ได้นำข้อมูล หลักการปฏิบัติตัวในฐานะพยานศ

Read More »

รับช่วงสิทธิ คืออะไร

รับช่วงสิทธิ คืออะไร รับช่วงสิทธิ คืออะไร มีความสัมพันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างไร JusThat จะพาไปหาคำตอบและทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้เลย

Read More »