1

JusThat

คำฟ้อง คำให้การ คำเบิกความ คืออะไร
และใครต้องเป็นฝ่ายยื่นในการดำเนินคดี

มีใครเคยสงสัยกันไหมว่า ถ้าจะไปฟ้องคดีแพ่งต่อศาลแล้วไม่มีคำฟ้องไปยื่น จะสามารถฟ้องศาลได้ไหม แล้วคำให้การคืออะไร ให้การคือการไปชี้แจงต่อศาลหรือเปล่า แล้วต้องชี้แจงยังไง ถ้ามีคำฟ้อง มีคำให้การ แล้วทำไมยังต้องมีคำเบิกความ JusThat จะอธิบายให้ทุกท่านเข้าใจในบทความนี้เลย 

คำฟ้อง คืออะไร และใครต้องยื่น

ก่อนที่เราจะตัดสินใจไปฟ้องคดีแพ่งกับใครสักคน เช่น ฟ้องนาย A ฟ้องนางสาว B ฟ้องบริษัทจำกัด B เป็นต้น ก่อนฟ้องก็ต้องมีเรื่องอะไรบางอย่างที่ตกลงกันไม่ได้มาก่อน อีกฝ่ายจึงเลือกไปยื่นคำฟ้องต่อศาล เพื่อให้ศาลเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดคดีว่าใครต้องทำอะไร ใครต้องได้อะไร

ตัวอย่าง A ขับรถโดยประมาทไปชน O จนได้รับบาดเจ็บ ขาหัก จมูกแตก เกิดอาการช็อก ตกใจกลัว และทรัพย์สินของ O ได้รับความเสียหาย และ O ต้องการเรียกร้องค่าเสียหายหรือที่เรียกว่า ค่าสินไหมทดแทน จาก A จำนวน 500,000 บาท แต่ปรากฎว่า A ไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายให้ O และท้าทาย O ว่าอยากได้ก็ไปฟ้องเอา

เมื่อโดนท้าทายมา O จึงไปยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อศาลที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ(พื้นที่ที่มูลคดีเกิดขึ้น) โดยฟ้องคดีในข้อหาละเมิด เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาให้ A ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 500,000 บาทให้กับ O เนื่องจาก A ได้ไปทำละเมิดต่อ O จน O ได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สิน  

เมื่อเป็นแบบนี้ O ก็จะต้องร่างคำฟ้อง ตรงนี้บางท่านอาจสงสัยว่า ทำไมต้องต้องร่างคำฟ้อง ก็พิมพ์ไปเลยรวดเดียวจบไม่ได้เหรอ คืออย่างนี้ที่ต้องร่างก็เพราะท่านต้องอ่าน ต้องตรวจทานคำฟ้องให้ดีว่าเขียนครบองค์ประกอบ และศาลจะนำไปตั้งประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยได้หรือเปล่า

เช่น ในคดีตัวอย่างที่ยกมา O จะต้องบรรยายฟ้องให้แจ้งชัด ชัดเจนว่า A ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร จนทำให้ O ได้รับความเสียหายอย่างไร A ไม่ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายอย่างไร ส่วนนี้เราเรียกว่า ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา 

แต่แค่อธิบายถึงการกระทำของ A นั้นยังไม่เพียงพอ O ยังต้องบรรยายลงไปในคำฟ้องถึงสิทธิ์ของตัวเองด้วยว่า O มีสิทธิ์ตามกฎหมายอย่างไรที่จะต้องได้รับเงินจำนวน 500,000 บาทนี้ เราเรียกส่วนนี้ว่า สภาพแห่งข้อหา 

เท่านี้ยังไม่พอ เพราะ O ต้องมีคำขอในคำฟ้องไปถึงศาลด้วยว่า O จะขออะไร เช่นในกรณีนี้ คือ O ขอให้ศาลบังคับ A ซึ่งเป็นจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ O เป็นเงินจำนวน 500,000 บาท เราเรียกส่วนนี้ว่า คำขอบังคับ ซึ่งจะเป็นส่วนที่อยู่ในคำขอท้ายฟ้องในแบบฟอร์มศาล(แบบฟอร์มคำฟ้อง)

สภาพแห่งข้อหา คือ ต้องบรรยายให้ศาลทราบถึงสิทธิของโจทก์ที่จะขอให้ศาลบังคับจำเลย ที่โจทก์มีสิทธิได้รับความคุ้มครอง รับรองตามกฎหมายแพ่ง

ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือ การกระทำของจำเลยที่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์

คำขอบังคับ  คือ คำขอท้ายฟ้องที่โจทก์ต้องการให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลย

ข้อควรรู้ กรณีฟ้องนิติบุคคลเป็นจำเลย หรือโจทก์เป็นนิติบุคคล จะต้องมีการบรรยายในคำฟ้องถึงสถานะของนิติบุคคลด้วย และถ้ามีการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีก็ต้องบรรยายไปด้วย

เช่น “โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จดทะเบียน ถูกต้องตามกฎหมายประกอบกิจการ………………………….มีนางสาว N เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ รายละเอียดปรากฎตามสำเนาหนังสือรับรอง ของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนา ธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1”

และลงท้ายคำฟ้องด้วย “โจทก์ไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับจำเลยได้ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล เพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่งบังคับจำเลยต่อไป ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด”

เมื่อ O ตรวจสอบคำฟ้องเรียบร้อยแล้ว O ก็พิมพ์คำฟ้องใส่ในแบบฟอร์มศาลและนำคำฟ้อง คำขอท้ายฟ้อง เอกสารท้ายคำฟ้องที่อ้างถึงในคำฟ้อง พร้อมบัญชีระบุพยานที่ระบุพยานไว้เบื่องต้น ตรงนี้ยังไม่ต้องระบุพยานทั้งหมดก็ได้ เพราะสามารถยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมได้ 

Facebook
Twitter
LinkedIn

คำให้การ คืออะไร และใครต้องยื่น

หลังจากโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลแล้ว ศาลจะมีหมายไปยังจำเลย เพื่อให้จำเลยยื่นคำให้การต่อศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ 

คำให้การ คือ ส่วนที่จำเลยใช้โต้แย้งกับโจทก์ว่า ที่โจทก์ฟ้องมาไม่ใช่นะ ไม่ถูกต้องนะ ความจริงต้องเป็นแบบนี้ ซึ่งจำเลยจะต้องบรรยายไปในคำให้การโดยชัดแจ้ง 

โดยชัดแจ้ง คือ จำเลยปฏิเสธอะไร ก็ต้องบรรยายไปให้ชัด ๆ ว่าปฏิเสธยังไง เพราะอะไร อย่างไร เช่น ในกรณี ระหว่าง O กับ A ที่จำเลยโดนกล่าวหาว่าขับรถโดยประมาทจนทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และจำเลยจะปฏิเสธว่า จำเลย(A)ไม่ได้ขับรถโดยประมาทจนไปชน O แต่เป็น O เองนั่นแหละที่เดินเล่นโทรศัพท์แล้วข้ามถนนไม่ดูรถ แถมยังไม่ข้ามถนนตรงทางม้าลายจนโดน A ชน ทั้ง ๆ ที่ A ขับรถมาด้วยความเร็วเพียง 40 กม./ชม. เท่านั้น แต่เป็นระยะกระชั้นชิด A จึงเบรกไม่ทัน เป็นต้น 

แบบนี้ A ซึ่งเป็นจำเลยก็ต้องบรรยายไปในคำให้การ เพราะถ้า A ไม่บรรยายไปจะเท่ากับว่า A ยอมรับ และอะไรที่ A ยอมรับแล้วจะถือเป็นที่ยุติ ไม่มีการนำมาเถียงกันต่อ ไม่เป็นประเด็นให้ศาลต้องนำไปกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท จะไม่มีการสืบพยานในเรื่องที่ยุติไปแล้ว และจะไม่มีการพิพากษาในเรื่องที่ยุติไปแล้วด้วย

หลังจากที่ A ยื่นคำให้การไป คำให้การของ A นี่แหละที่จะเป็นข้อต่อสู้ของ A ที่ยกขึ้นมาโต้แย้งกับ O และศาลก็จะต้องไปดูว่ามีอะไรที่ทั้ง 2 ฝ่ายว่าไม่ตรงกันบ้าง และมีอะไรที่ว่าตรงกัน จำเลยยอมรับตามคำฟ้องของโจทก์บ้าง ซึ่งจะเป็นที่มาของ ประเด็นข้อพิพาทต่อไป

คำเบิกความ คืออะไร และใครต้องยื่นต่อศาล

หลังจากโจทก์ยื่นคำฟ้องไปแล้ว จำเลยยื่นคำให้การมาต่อสู้ข้อกล่าวหาของโจทก์แล้ว และมีการไกล่เกลี่ยกันแล้ว แต่ยังตกลงกันไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมให้กัน คดีจะเข้าสู่ขั้นต่อไป คือ นัดชี้สองสถาน หรือ นัดกำหนดประเด็นข้อพิพาท

อย่างที่ได้กล่าวไปในหัวข้อก่อนหน้าแล้วว่า เรื่องไหนที่โจทก์และจำเลยว่าไม่ตรงกัน เรื่องนั้นจะกลายมาเป็นประเด็นข้อพิพาท ถ้ามีเรื่องไหนที่โจทก์และจำเลยไม่กล่าวถึง เรื่องนั้นจะไม่เป็นประเด็นในคดี และศาลจะกำหนดประเด็นนั้นไม่ได้ และหมายรวมถึงโจทก์และจำเลยจะไปพิสูจน์ในเรื่องที่ไม่เป็นประเด็นในคดีก็ไม่ได้เช่นกัน 

หลังจากได้ประเด็นข้อพิพาทที่ต้องทำการสืบพยานแล้ว ศาลจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทนั้นลงไปในกระบวนพิจารณา และสั่งให้โจทก์และจำเลยไปทำคำเบิกความของพยาน พร้อมนำบัญชีพยานเพิ่มเติม(ถ้ามี) และพยานหลักฐานมายื่นศาลภายในกำหนด(ถ้ามีเพิ่ม)

แปลว่า ใครเป็นพยานของฝ่ายไหน ฝ่ายนั้นก็ต้องนำคำเบิกความของพยานคนนั้นไปยื่นต่อศาล ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องยื่นล่วงหน้าก่อนวันสืบพยาน เพื่อให้ศาลได้มีเวลาตรวจสอบดูก่อน และเมื่อถึงวันสืบพยาน พยานแต่ละปากจะต้องไปศาลตามนัด และขึ้นเป็นพยานตามลำดับ และในขั้นตอนนี้เองที่จะมีการซักถาม ถามค้าน ถามติง ซึ่งจะเป็นอย่างไร ผู้เขียนจะเขียนบทความแยกให้ในโอกาสหน้า โดยจะมีการถามไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะครบพยานทุกละปาก การสืบพยานจึงจะสิ้นสุดลง

จากนั้นศาลจะไม่ได้พิพากษาในทันทีนะ เพราะศาลจะต้องไปดูข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกี่ยวกับประเด็นในคดีก่อน โดยดูจากพยานวัตถุ พยานเอกสาร และคำเบิกความของพยานบุคคล ว่าพยานได้เบิกความไว้อย่างไรบ้าง จากนั้นจึงจะเขียนคำพิพากษาขึ้นมา และอ่านคำพิพากษาในวันนัดอ่านคำพิพากษาต่อไป 

ตรงนี้อาจมีบางท่านสงสัยว่า ถ้าไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาจะสามารถโต้แย้งศาลตรงนั้นได้เลยไหม ผู้เขียนต้องบอกอย่างนี้ว่า ไม่ได้ แต่สามารถไปยื่นอุทธรณ์ได้ กรณีไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น 

สรุปได้ว่า คำฟ้อง คือ ข้อกล่าวหาของโจทก์ที่ได้กล่าวหาจำเลย และฝ่ายที่ยื่นคำฟ้อง คือ ฝ่ายโจทก์ 

คำให้การ คือ คำแก้ข้อกล่าวหาของโจทก์ เป็นข้อต่อสู้ ข้อโต้แย้งที่จำเลยยกขึ้นสู้กับโจทก์ และฝ่ายที่ต้องยื่นคำให้การ คือ ฝ่ายจำเลย

คำเบิกความ คือ ข้อความที่พยานต้องการเบิกความต่อศาล และจะถูกนำไปใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงในวันสืบพยาน ฝ่ายที่ต้องยื่นมีทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย

จะเห็นได้ว่า?! คดีลักษณะนี้มีความซับซ้อน
เราแนะนำให้เลือกใช้ทนายความที่มีประสบการณ์
หมดกังวลปัญหาทนายความทิ้งคดี
เช็คค่าใช้จ่ายได้ตั้งแต่ต้นจนจบโดย JusThat 

  1. แอดไลน์ @justhatapp
  2. ส่งหลักฐานให้ทนายความ
  3. เช็คแนวทางและค่าใช้จ่ายฟรี!
Line-Chat-Portrait

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท ตั้งแต่คลอดออกมาและอยู่รอดเป็นทารก คนคนนั้นจะมีสภาพเป็นบุคคล เมื่อมีสภาพบุคคลแล้วจะมีกองทรัพย์

Read More »

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าคุณได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นพยานศาล JusThat ได้นำข้อมูล หลักการปฏิบัติตัวในฐานะพยานศ

Read More »

รับช่วงสิทธิ คืออะไร

รับช่วงสิทธิ คืออะไร รับช่วงสิทธิ คืออะไร มีความสัมพันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างไร JusThat จะพาไปหาคำตอบและทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้เลย

Read More »