1

JusThat

รอลงอาญาคืออะไร รอนานแค่ไหนจึงจะถูกลงโทษ

เพื่อน ๆ คงเคยได้ยินคำว่ารออาญากันบ้างแล้ว รอลงอาญา คืออะไร ? ทำไมจึงไม่ลงโทษไปเลย ในระหว่างที่ถูกรอลงอาญาต้องทำตัวยังไง เมื่อครบกำหนดรอลงอาญาจะเกิดอะไรขึ้น โทษที่ได้รับคือจำคุก 3 ปี 4 เดือน โทษจำคุกให้รออาญา 3 ปี แบบนี้หมายความว่ายังไง JusThat รวบคำตอบมาไว้ให้ทุกคนในบทความนี้แล้ว

รอลงอาญาหรือรอการลงโทษ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า suspended sentence คือ การที่ศาลพิพากษาลงโทษคนทำผิดให้จำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี แต่ศาลเห็นว่าคนที่ถูกตัดสินลงโทษควรได้รับโอกาสในการกลับตัว จึงกำหนดระยะเวลารอลงอาญาเอาไว้ก่อน แต่ระยะเวลาที่กำหนดต้องไม่เกิน 5 ปี คนทำผิดก็จะยังไม่ต้องรับโทษตามคำพิพากษา และศาลอาจกำหนดเงื่อนไขให้ทำตามในระหว่างที่ถูกรอลงอาญาด้วยก็ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ซึ่งจะได้รับการรอลงอาญาไว้ก่อนกี่คดีก็ได้

ว่ากันง่าย ๆ ก็คือ ศาลพิจารณาแล้วว่าจำเลยไม่ใช่คนเลวโดยกมลสันดาน  การเข้าไปอยู่ในคุกระยะสั้นก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น เพราะอยู่ข้างนอกเขาก็สามารถกลับตัวได้ และการถูกจำคุกยังทำให้เสียประวัติ พ้นโทษออกมาก็อาจไม่มีใครให้โอกาสในการประกอบอาชีพ ศาลจึงยังให้โอกาสใช้ชีวิตนอกคุกได้ แต่มีข้อแม้ว่าห้ามทำผิดในระหว่างนี้นะ

รอลงอาญาคือการที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิดต้องรับโทษแต่ให้รอการลงโทษไปก่อน

รอลงอาญา ใช้หลักเกณฑ์อะไร

ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ทำผิดในคดีอาญา และถูกศาลพิพากษาให้รับโทษจะต้องได้รับการรอลงอาญา เพราะเบื้องลึกเบื้องหลังของแต่ละคนและแต่ละคดีนั้นแตกต่างกัน รายละเอียดในการทำผิดก็แตกต่างกัน การรอลงอาญาจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล และคดีที่จะได้รับการรอลงอาญาจะต้องเป็นคดีที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี โดยใช้หลักเกณฑ์ ดังนี้

  1. ไม่เคยรับโทษจําคุกมาก่อน หรือ
  2. เคยรับโทษจําคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือเป็นโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ
  3. เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่พ้นโทษจำคุกมาแล้วเกิน 5 ปี แล้วทำผิดอีกแต่ความผิดในครั้งหลังเป็นความผิดท่ีได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
เพียงเข้าหลักเกณฑ์ข้างต้น จำเลยก็มีสิทธิที่จะได้รับโอกาสในการกลับตัว แต่ศาลจะพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น อายุ ประวัติ ความประพฤติที่ผ่านมา การศึกษา อุปนิสัย อาชีพ การเยียวยาผู้เสียหาย การพยายามบรรเทาความร้ายแรงที่เกิดขึ้น การรับสารภาพ การขอความเมตตาจากศาล เป็นต้น
เช่น ในคดีขับรถชนคนตาย จำเลยพยายามช่วยเหลือผู้เสียชีวิต โทรตามรถพยาบาล เรียกคนให้มาช่วย ช่วยค่าจัดงานศพ มีการเยียวยาครอบครัวของผู้ตาย ศาลก็อาจพิจารณาให้รอลงอาญาได้ และศาลไม่ได้มองว่าจำนวนเงินที่ช่วยเหลือนั้นมากน้อยแค่ไหนนะ แต่มองที่เจตนา ความพยายามของจำเลยในการขวนขวายหาเงินมาชดใช้  การสำนึกในการกระทำของตัวเอง เป็นต้น
แต่ในทางกลับกันหากจำเลยไม่สำนึกผิดในสิ่งที่ตัวเองก่อ โกหกเรื่องราวทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองพ้นผิด ถึงแม้จำเลยจะมีฐานะการเงินที่มั่นคง และจ่ายเงินเป็นหลักล้านให้ครอบครัวผู้ตายไปแล้ว ศาลก็อาจพิจารณาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่มีการรอลงอาญาก็ได้

รอลงอาญา ห้ามทำอะไรบ้าง

ในระหว่างที่ถูกรอลงอาญาศาลจะกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติไว้ด้วยหรือไม่ก็ได้ และจะกำหนดเงื่อนไขกี่ข้อก็ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี แต่ละคนแต่ละคดีจึงได้รับเงื่อนไขที่ไม่เหมือนกัน โดยมีการกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 วรรค 2 ดังนี้

  1. ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานศาลที่ระบุไว้เป็นครั้งคราว เพื่อเจ้าพนักงานจะได้สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควรในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ หรือจัดให้ทํากิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ 
  2. ให้ฝึกหัดหรือทํางานอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ
  3. ให้ละเว้นการคบหาสมาคม หรือการประพฤติใดอันอาจนําไปส่การกระทําความผิดในทํานองเดียวกันอีก
  4. ให้ไปรับการบําบัดรักษาการติดยาเสพติดให้โทษ ความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกําหนด
  5. ให้เข้ารับการฝึกอบรม ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกําหนด
  6. ห้ามออกนอกสถานที่อยู่อาศัย หรือห้ามเข้าในสถานที่ใดในระหว่างเวลาที่ศาล กําหนด ท้ังนี้ จะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจํากัดการเดินทางด้วยก็ได้
  7. ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเยียวยาความเสียหายโดยวิธีอื่นให้แก่ผู้เสียหายตามที่ผู้กระทําความผิดและผู้เสียหายตกลงกัน
  8. ให้แก้ไขฟื้นฟูหรือเยียวยาความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อม หรือชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการดังกล่าว
  9. ให้ทําทัณฑ์บนโดยกําหนดจํานวนเงินตามที่ศาลเห็นสมควรว่าจะไม่ก่อเหตุร้าย หรือก่อให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สิน
  10. เงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรกําหนดเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ ผู้กระทําความผิดกระทําหรือมีโอกาสกระทําความผิดขึ้นอีก หรือเงื่อนไขในการเยียวยาผู้เสียหายตามที่เห็นสมควร

แต่หากมีการทำผิดเงื่อนไขศาลก็สามารถตักเตือนได้ หรือหนักหน่อยก็จะถูกยกเลิกการคุมประพฤติแล้วถูกลงโทษจริง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 57 เช่น โทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน ให้รอลงอาญา 3 ปี แต่ในระหว่างปีที่ 2 ใกล้จะครบ 3 ปี เกิดมีการทำผิดเงื่อนไข ศาลตักเตือนแล้วก็ยังทำอีก ศาลจึงลงโทษให้เข้าไปอยู่ในคุก 3 ปี 4 เดือนจริง ๆ

ในทางกลับกันถ้าไม่มีการทำผิดเงื่อนไขใด ๆ เลยในระหว่างรอลงอาญา เมื่อครบกำหนดตามกฎหมายจะถือว่าผู้นั้นพ้นจากการถูกกำหนดโทษแล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรค 2 ในประวัติก็จะเป็นไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เพราะไม่ได้เข้าไปอยู่ในคุกจริงนั่นเอง

รอลงอาญานานแค่ไหน จึงจะได้จำคุกจริง

อย่างที่เราทราบกันแล้วว่าจำเลย 1 คนจะได้รับการรอลงอาญากี่คดีก็ได้ เช่น คดีที่ 1 เป็นความผิดที่ทำโดยประมาท มีโทษจำคุก 3 ปี ศาลก็รอลงอาญาไว้ก่อน 3 ปี แต่ในระหว่างนั้นก็มีคดีอื่นอีกที่ถูกพิพากษาว่าจำเลยทำความผิด กำหนดโทษจำคุก 3 ปีเช่นกัน แต่เป็นความผิดที่ทำโดยประมาท ศาลจึงรอลงอาญาไว้อีก 1 คดี  รวมเป็นรอลงอาญาไว้ 2 คดี หากจำเลยทำตัวดี ไม่ไปก่อเรื่องเพิ่มอีกหรือไม่ผิดเงื่อนไขของศาล เมื่อครบกำหนดรอลงอาญาก็จะถือว่าพ้นโทษแล้ว 

แต่ถ้าเกิดมีการทำความผิดที่ไม่ใช่การทำผิดโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และศาลพิพากษาว่าจะต้องโทษจำคุกแล้วนะ ในระหว่างที่ 2 คดีก่อนหน้ายังไม่ครบกำหนดรอลงอาญา  โทษที่ถูกรอลงอาญาไว้ทั้ง 2 คดีก่อนหน้าก็จะถูกนำมานับรวมในคดีล่าสุดด้วย

ยกตัวอย่างเช่น

  • คดีแรกมีโทษจำคุก 3 ปี เหลือ 1 เดือนจะครบกำหนดรอลงอาญา
  • คดีที่ 2 มีโทษจำคุก 3 ปี เหลือ 1 ปีจะครบกำหนดรอลงอาญา
  • คดีที่ 3 มีโทษจำคุก 5 ปี ศาลไม่รอลงอาญา

ผลที่ได้ก็คือ จะต้องรับโทษจำคุกทั้งหมด 11 ปี ในทันที ไม่มีการรอลงอาญาแล้ว

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 เมื่อความปรากฏแก่ศาลเอง หรือความปรากฏตามคําแถลงของโจทก์ หรือเจ้าพนักงานว่า ในเวลาที่ศาลกำหนดตามมาตรา 56 ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาได้กระทำความผิด อันมิใช่ความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และศาลพิพากษาให้ลงโทษจําคุกสําหรับความผิดนั้น ให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังกําหนดโทษที่รอการกําหนดไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษในคดีหลัง หรือบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลัง แล้วแต่กรณี

แต่ถ้าภายในเวลาที่ศาลได้กําหนดตามมาตรา 56 ผู้นั้นมิได้กระทําความผิดดังกล่าว มาในวรรคแรก ให้ผู้น้ันพ้นจากการที่จะถูกกําหนดโทษ หรือถูกลงโทษในคดีนั้น แล้วแต่กรณี

รู้หรือไม่?! ยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรงได้ จะทำให้เรื่องถึงชั้นศาลได้เร็วขึ้น
JusThat ค่าบริการปรึกษาเริ่มต้น 1,500 บาท บริการส่งฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา

  1. แอดไลน์ @justhatapp
  2. เริ่มต้นทำแบบประเมิน
  3. หากต้องการ ส่งฟ้องได้ทันที
Line-Chat-Portrait

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าคุณได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นพยานศาล JusThat ได้นำข้อมูล หลักการปฏิบัติตัวในฐานะพยานศ

Read More »

ดราม่า ปังชา ว่าด้วยเรื่อง เครื่องหมายการค้า

“ปังชา” คำนี้ทุกคนมีสิทธิ์ใช้ ดราม่า #ปังชา ว่าด้วยเรื่อง เครื่องหมายการค้า กลายเป็นประเด็นร้อนในโซเชี่ยลเพียงชั่วข้ามคืนกับ #ปังชา ว่าด้ว

Read More »
สิ่งที่ลูกจ้างรายวันต้องรู้และนายจ้างต้องเข้าใจ

กฎหมายแรงงาน ลูกจ้างรายวันต้องรู้ นายจ้างต้องเข้าใจ

กฎหมายแรงงาน ลูกจ้างรายวันต้องรู้ นายจ้างต้องเข้าใจ เป็นลูกจ้างรายวันลาป่วยไม่ได้เงิน ลูกจ้างรายวันทำงานวันไหนก็ได้เงินแค่วันนั้น ลูกจ้างรายวันไม่ใช่พ

Read More »