1

JusThat

แจ้งความร้องทุกข์
ทำยังไงให้สำเร็จ

หลายคนอาจเคย แจ้งความ แล้วไม่สามารถแจ้งได้ หรือแจ้งแล้วเรื่องเงียบคดีไม่เดิน ทำให้มีคำถามอยู่ภายในใจเต็มไปหมด ว่าทำไมการแจ้งความร้องทุกข์จึงยุ่งยากนัก ลงบันทึกประจำวันไว้แล้วทำไมตำรวจไม่ดำเนินคดีให้ แจ้งความไปตั้งนานแล้วแต่ก็ไม่เห็นความคืบหน้า หากเจอแบบนี้เราจะทำยังไงได้บ้าง

JusThat จึงรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นในการแจ้งความอย่างไรให้สำเร็จมาใว้ให้ทุกคนที่นี่แล้ว ถ้าพร้อมแล้วไปอ่านต่อกันเลย

แจ้งความร้องทุกข์ ทำยังไงให้สำเร็จ

แจ้งความร้องทุกข์ ลงบันทึกประจำวัน ยื่นคำกล่าวโทษ
มีความแตกต่างกันอย่างไร

เนื่องจากการแจ้งความร้องทุกข์ ลงบันทึกประจำวัน และการกล่าวโทษนั้น มีเจตนาและผลทางกฎหมายที่แตกต่างกัน เราจึงต้องทำความเข้าใจระหว่างการแจ้งความ การลงบันทึกประจำวัน และการยื่นคำกล่าวโทษกันก่อน ว่าแต่ละอย่างมีความแตกต่างกันอย่างไร เหตุการณ์แบบไหนควรแจ้งอะไร

การแจ้งความ คือ การที่เรานำเรื่องที่เราเดือดร้อนไปร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจรับคำร้องทุกข์ เช่น พนักงานสอบสวน หรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจที่มีตำแหน่งหน้าที่รองหรือเหนือพนักงานสอบสวน และเป็นผู้ที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมาย โดยมีเจตนาให้คนทำผิดได้รับโทษ หรือต้องการให้มีการดำเนินคดีจนถึงที่สุด ทำให้เกิดเป็นคดีความระหว่างเราซึ่งเป็นผู้เสียหายและอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นคู่กรณี และเจ้าหน้าที่จะสามารถดำเนินคดีต่อไปได้ 

“คำร้องทุกข์” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 หมายถึง การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ

การลงบันทึกประจำวัน คือ การนำเรื่องไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่รับทราบว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง พนักงานสอบสวนที่รับเรื่องก็จะจดบันทึกลงในรายงานประจำวันเพื่อเป็นหลักฐาน หรือแจ้งเอกสารหายก็บันทึกลงรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหาย และกรณีนี้พนักงานสอบสวนจะดำเนินคดีต่อไม่ได้ เพราะคนแจ้งไม่มีเจตนาให้คนผิดได้รับโทษหรือไม่ต้องการดำเนินคดีนั่นเอง

การยื่นคำกล่าวโทษ คือ การที่เราพบเห็นเหตุการณ์ไม่ปกติ พบผู้เสียหาย หรือพบว่ามีการกระทำผิด แล้วนำเรื่องไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีการทำผิดหรือมีความเสียหายเกิดขึ้น โดยที่เราจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดก็ได้ แต่ก็แจ้งไปก่อนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถนำเรื่องที่เรากล่าวโทษไปพิจารณาเพื่อดำเนินคดีต่อไปได้

สรุปได้ว่าในการดำเนินคดีอาญานั้น เราสามารถนำเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน เพื่อให้มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ เรียกว่า “การแจ้งความร้องทุกข์” ส่วนกรณีที่ต้องการแจ้งไว้เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานไม่ต้องการให้มีการดำเนินคดีใด ๆ เรียกว่า “การลงบันทึกประจำวัน” หรือเราไปพบเจอการทำความผิดหรือพบผู้เสียหาย เราก็สามารถแจ้งเหตุ ยื่นคำกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนได้ เพื่อให้ตำรวจเข้ามาช่วยเหลือผู้เสียหายและมีการดำเนินคดีต่อไปนั่นเอง

แจ้งความยังไงให้สำเร็จ ใครแจ้งความร้องทุกข์ได้บ้าง

แจ้งความร้องทุกข์ ยื่นคำกล่าวโทษ
ใครบ้างที่สามารถทำได้

ผู้เสียหายตามกฎหมายเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ เพื่อให้คนทำความผิดได้รับโทษ

  1. มีคนทำความผิดอาญาฐานใดฐานหนึ่ง
  2. ทำให้เราได้รับความเสียหายจากการทำความผิดนั้น
  3. และเราต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย คือ จะต้องไม่มีส่วนในการทำความผิด หรือไม่เป็นผู้ใช้ หรือไม่เป็นผู้สนับสนุน หรือไม่รู้เห็นในการทำความผิดนั้น

กรณีไหนบ้างที่ผู้อื่นแจ้งความร้องทุกข์แทนได้ (ผู้มีอำนาจจัดการแทน)

  • ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์(บุคคลที่อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์) หรือเป็นผู้ไร้ความสามารถ ผู้แทนโดยชอบธรรม เช่น พ่อแม่ หรือพ่อเลี้ยง แม่เลี้ยงที่จดทะเบียนรับผู้เยาวว์เป็นบุตร หรือพ่อแม่บุญธรรม หรือบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากศาลให้เป็นผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เป็นผู้อนุบาล(ผู้ดูแล)ของผู้ไร้ความสามารถ สามารถแจ้งความดำเนินคดีแทนได้  
  • ผู้เสียหายถูกทำร้ายจนตายหรือได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถไปจัดการเองได้ กรณีนี้คนที่เป็นบุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภรรยา สามารถแจ้งความดำเนินคดีแทนได้
  • ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคล ผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลสามารถแจ้งความดำเนินคดีแทนได้
  • ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ที่ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือเป็นบุคคลวิกลจริตหรือไร้ความสามารถที่ไม่มีผู้ดูแล หรือมีแต่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ หรือมีผลประโยชน์ขัดกัน กรณีนี้ญาติหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อตั้งผู้แทนเฉพาะคดีได้ 
  • ผู้เสียหายมอบอำนาจให้ไปจัดการแทน กรณีนี้ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจสามารถไปแจ้งความร้องทุกข์แทนได้เช่นกัน

ทั้งนี้ หากผู้เยาว์อยากแจ้งความเองก็สามารถทำได้นะ แต่ต้องมีความรู้สึกผิดชอบแล้วและมีอายุพอสมควร เช่น A อายุ 18 ปี มีความรับผิดชอบดูแลตัวเองได้ ไปแจ้งความข้อหาฉ้อโกงเพราะถูกหลอกซื้อของออนไลน์ เป็นต้น

ยื่นคำกล่าวโทษ

ใครก็ได้ที่พบเห็นการทำความผิด พบเห็นผู้เสียหาย อยู่ในเหตุการณ์  หรือได้รับความเสียหายเดือดร้อนแต่ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย สามารถยื่นคำกล่าวโทษให้พนักงานสอบสวนนำเรื่องไปพิจารณาดำเนินคดีต่อไปได้

คดีที่แจ้งความร้องทุกข์ได้
และตำรวจสามารถดำเนินคดีให้ได้

เวลาที่เราไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเข้าข่ายความผิดอะไร เราก็สามารถไปแจ้งความร้องทุกข์ได้นะ เพราะเราไม่จำเป็นต้องระบุฐานความผิด ไม่จำเป็นต้องรู้ข้อกฎหมายว่าเป็นความผิดข้อหาใด แค่เล่าเรื่องให้พนักงานสอบสวนฟังตามความเป็นจริงและต้องการให้มีการดำเนินคดี เท่านี้ก็สามารถแจ้งความได้แล้ว เพราะการตั้งข้อหาเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน เขาจะต้องสอบคำให้การเราก่อนและตรวจสอบพยานหลักฐานต่าง ๆ จากนั้นจึงจะตั้งข้อหา

แต่เมื่อตรวจสอบแล้วในบางครั้งเพื่อน ๆ ก็อาจได้รับคำตอบว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งต้องฟ้องศาลด้วยตัวเองนะ เพราะตำรวจดำเนินคดีแพ่งให้ไม่ได้ ตำรวจมีอำนาจในการดำเนินคดีที่มีมูลความผิดจากการทำผิดอาญาเท่านั้น ซึ่งก็คือคดีอาญาและคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา โดยแยกออกเป็น 2 แบบ คือความผิดอาญาอันยอมความได้ และความผิดอาญาแผ่นดิน

ความผิดอาญาอันยอมความได้ คือ ความผิดต่อส่วนตัว เป็นการทำความผิดที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ถูกกระทำเท่านั้น ไม่เกิดผลกระทบต่อสังคมโดยรวม และกฎหมายจะต้องกำหนดเอาไว้ว่าเป็นความผิดอาญาอันยอมความได้ ซึ่งผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนต้องแจ้งความร้องทุกข์ ภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่รู้เรื่องและรู้ตัวคนทำผิด พนักงานสอบสวนจึงจะดำเนินคดีได้ หากปล่อยไว้จนพ้นกำหนด 3 เดือนแล้วคดีก็จะขาดอายุความ ทำให้เราไม่สามารถเอาผิดคนทำได้ หรือแจ้งความไปแล้วมีการชดใช้ คืนของ ยอมจ่ายค่าปรับ แล้วเราไม่ติดใจเอาความ ไม่อยากดำเนินคดีต่อไปก็สามารถยอมความกันได้ เช่น หมิ่นประมาท เช็คเด้ง ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์  บุกรุก เป็นต้น

ความผิดอาญาแผ่นดิน คือ ความผิดที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำโดยตรงและมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้และรัฐเป็นผู้เสียหายด้วย ดังนั้น ทุกคนสามารถยื่นคำกล่าวโทษได้ หรือผู้เสียหาย/ผู้มีอำนาจจัดการแทนแจ้งความดำเนินคดีเองก็ได้ หรือไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ ยื่นคำกล่าวโทษ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ทราบเรื่องก็สามารถดำเนินคดีกับคนทำความผิดเพื่อส่งให้อัยการฟ้องศาลต่อไปได้ เช่น ลักทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ บุกรุกในเวลากลางคืน ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นต้น

แจ้งความร้องทุกข์
ต้องเตรียมหลักฐานให้พร้อม

นอกจากเจตนาที่เราต้องการให้คนทำผิดได้รับโทษแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือเอกสารสำคัญและพยานหลักฐาน เราจึงควรเตรียมเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ไปให้พร้อมในทีเดียว เพราะถ้าไม่นำไปก็อาจทำให้แจ้งความไม่สำเร็จได้

เอกสารสำคัญที่ควรมีติดตัวไปแจ้งความ

  1. บัตรประจำตัวประชาชน หรือ
  2. บัตรประจำตัวข้าราชการ หรือ
  3. ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือ
  4. หนังสือเดินทาง (Passport)

เอกสารสำคัญกรณีแจ้งความแทนผู้เสียหาย 

  1. แจ้งความแทนผู้เยาวว์ ใช้เอกสารแสดงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ 
  2. แจ้งความแทนบุคคลไร้ความสามารถ ใช้เอกสารแสดงเป็นผู้อนุบาลของผู้ไร้ความสามารถตามที่ศาลสั่ง 
  3. แจ้งความแทนผู้เสียหายที่ถึงแก่ความตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ ให้นำหลักฐานแสดงการเป็นบุพการี ผู้สืบสันดาน สามี ภรรยา เช่น สูติบัตร ในทะเบียนสมรส ทะเบียนบ้าน ติดตัวไปด้วย 
  4. แจ้งความแทนสามีหรือภรรยา ใช้เอกสารแสดงว่าสามีหรือภรรยาอนุญาตให้เราเป็นผู้ร้องทุกข์แทนหรือเป็นตัวแทนได้ 
  5. แจ้งความแทนนิติบุคคล เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วน ใช้หนังสือมอบอำนาจของนิติบุคคลติดอากรแสตมป์ 5 บาท และหนังสือรับรองนิติบุคคลของกระทรวงพาณิชย์
  6. ได้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหาย ให้นำหนังสือมอบอำนาจไปแสดงด้วย

นอกจากเอกสารสำคัญแล้ว เราต้องเตรียมหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปด้วยเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น เช่น แชทการสนทนาเราก็สามารถพริ้นต์ใส่กระดาษ A4 แบบขาวดำได้ นำคลิปวิดีหรือคลิปเสียงใส่แฟลชไดรฟ์ไป และห้ามดัดแปลงข้อมูลต่าง ๆ อย่างเด็ดขาด เราต้องรักษาพยานหลักฐานทุกอย่างให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นะ เพราะการดัดแปลงจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือและน้ำหนักของพยานด้วย 

หากมีหลักฐานในที่เกิดเหตุ เช่น รอยนิ้วมือ การงัดแงะ เสื้อผ้าที่สวมใส่ขณะเกิดเหตุ อาวุธ อุปกรณ์ที่ใช้ทำร้ายกัน คราบเลือด ฯลฯ เราควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้เข้าไปตรวจสอบให้เร็วที่สุด และอย่าเพิ่งเคลื่อนย้าย หยิบจับ ทำความสะอาดใด ๆ ให้รอจนกว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบ 

ขั้นตอนการแจ้งความร้องทุกข์
ทำตามนี้แจ้งความสำเร็จแน่นอน

แจ้งความที่สถานีตำรวจ

เมื่อเราเตรียมเอกสารและหลักฐาน พร้อมทั้งลำดับเหตุการณ์เรียบร้อยแล้ว ให้เราไปแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน หรือสถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ แต่การแจ้งความนอกพื้นที่ที่เกิดเหตุจะมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นมาและทำให้เรารอนานขึ้นกว่าเดิม เพราะหลังจากรับแจ้งความแล้วพนักงานสอบสวนที่รับแจ้งต้องส่งเรื่องต่อให้พนักงานสอบสวนในพื้นที่ที่เกิดเหตุดูแลต่อ 

ถึงตรงนี้เพื่อน ๆ ก็อาจสงสัยว่าเราสามารถไปแจ้งความได้ถึงกี่โมง โดยปกติแล้วที่สถานีตำรวจจะมีร้อยเวรสอบสวนเข้าเวรอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรอรับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน พวกเขาจะแบ่งเวลาทำงานกันและหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไปเรื่อย ๆ ดังนั้น เราจะไปเวลาไหนก็ได้ตามที่สะดวก เมื่อไปถึงให้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่ามาแจ้งความดำเนินคดี ไม่ต้องการลงบันทึกประจำวัน และเข้าพบร้อยเวรสอบสวนที่เข้าเวรอยู่ในขณะนั้น

พนักงานสอบสวนก็จะซักถามถึงที่มาที่ไปของเรื่องราว ขั้นตอนนี้เราต้องอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จำได้ มีใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ใครอยู่ในเหตุการณ์บ้าง คนทำผิดมีลักษณะยังไง ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง และต้องระบุวัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุให้ถูกต้อง เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะตำรวจต้องนำไปพิจารณาเพื่อตั้งข้อหาและดำเนินสอบสวนเพื่อสรุปสำนวนส่งให้อัยการ หากอัยการฟ้องไปและมีข้อมูลที่ผิดพลาดก็อาจทำให้ศาลยกฟ้องได้

นอกจากการเล่ารายละเอียดและยืนยันเจตนาว่าต้องการดำเนินคดีให้ถึงที่สุด หรือต้องการให้คนผิดได้รับโทษแล้ว เราต้องส่งหลักฐานต่าง ๆ ให้พนักงานสอบสวนนำไปประกอบในสำนวนด้วย หรือมีพยานบุคคลก็สามารถพาไปพบพนักงานสอบสวนได้ เพื่อให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำไว้เป็นพยาน ในขั้นตอนนี้หากมีอะไรที่เราไม่แน่ใจหรือไม่มั่นใจว่าใช่หรือไม่ เราไม่ควรชี้ชัดหรือเหมาเอาเองว่าใช่แน่ ๆ และห้ามโกหกสร้างเรื่องขึ้นมาเด็ดขาด เพราะถ้าสิ่งนั้นไม่ใช่ความจริงก็จะทำให้เราถูกอีกฝ่ายดำเนินคดีกลับได้นะ

จากนั้นเราต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อความที่พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ให้ละเอียดก่อนลงชื่อทุกครั้ง เพราะสิ่งที่พนักงานสอบสวนบันทึกไปจะเป็นสิ่งที่เรารับรองว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และแบบฟอร์มที่ใช้บันทึกการแจ้งความดำเนินคดีจะต้องเป็นรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเท่านั้น ไม่ใช่รายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน หรือรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหาย และในรายงานนั้นจะต้องระบุอย่างละเอียดว่ามีความประสงค์จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายต่อไป ดังนั้น หากมีอะไรที่ไม่ถูกต้องอย่าเพิ่งลงชื่อเด็ดขาด เราต้องแจ้งให้พนักงานสอบสวนแก้จุดที่ผิดพลาดในไขทันที เมื่อแก้ไขเสร็จแล้วเราค่อยลงชื่อในรายงาน หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนจะถ่ายสำเนารายประจำวันเกี่ยวกับคดีให้เรานำกลับมาด้วย 1 ชุด

แจ้งความออนไลน์

เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สะดวกและรวดเร็ว เราสามารถแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ แต่ต้องเป็นคดีที่เราเป็นผู้เสียหายจากการทำความผิดทางเทคโนโลยี เช่น ถูกร้านค้าออนไลน์ฉ้อโกงเงิน ถูกแชร์ลูกโซ่ออนไลน์หลอก ถูกสแกมเมอร์หลอกให้โอนเงิน เป็นต้น

การลงทะเบียน

  1. เข้าไปที่ https://thaipoliceonline.com 
  2. เลือกแจ้งความออนไลน์
  3. เลือกลงทะเบียน หรือมี User และ Password แล้วก็เข้าใช้งานได้เลย
  4. ลงทะเบียนโดยกรอกข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วน ขั้นตอนนี้หากใครจำ Laser Code หลังบัตรประจำตัวประชาชนไม่ได้ก็ต้องเตรียมบัตรไว้ด้วยนะเพราะจำเป็นต้องกรอก
  5. เมื่อกดปุ่มถัดไป ระบบจะส่ง OTP ไปที่อีเมลเพื่อใช้ยืนยันตัว ให้เรานำ OTP ที่ได้รับไปใส่ในหน้าลงทะเบียนให้เรียบร้อย
  6. หลังจากลงทะเบียนเสร็จก็เข้าสู่ระบบเพื่อแจ้งความได้เลย

การแจ้งความออนไลน์

  1. เมื่อเข้าสู่ระบบแล้วให้เราเลือกแจ้งเรื่องใหม่
  2. อ่านข้อตกลงให้ครบถ้วนและกดยินยอม
  3. กรอกข้อมูลของผู้เสียหายให้ถูกต้อง ครบถ้วน
  4. ใส่รายละเอียดเหตุการณ์และสิ่งที่เกิดขึ้นให้ครบถ้วน ชัดเจนและละเอียดมากที่สุด
  5. ใส่รายละเอียดความเสียหายที่เกิดขึ้น
  6. ใส่ข้อมูลของคนร้ายให้ละเอียดมากที่สุด เช่น ชื่อนามสกุล นามแผง ชื่อเล่น ที่อยู่ เบาะแสอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับคนร้าย
  7. แนบหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
  8. ตรวจสอบความถูกต้องและกดปุ่มยืนยัน เท่านี้ก็แจ้งความสำเร็จแล้ว 
  9. หากเราต้องการติดตามความคืบหน้า เราก็สามารถ Login เข้าระบบไปตรวจสอบสถานะแจ้งความออนไลน์ได้ตลอด 24 ชม. เลย

แจ้งความร้องทุกข์เสร็จแล้ว
ต้องทำยังไงต่อ

หลังจากที่เราแจ้งความเสร็จแล้วพนักสอบสวนจะเป็นผู้ดำเนินการต่อ โดยออกหมายเรียกไปผู้ต้องหาให้มารับทราบข้อกล่าวหาและสอบคำให้การ แต่ถ้าพนักงานสอบสวนดูพยานหลักฐานแล้วไม่ค่อยมีน้ำหนัก แต่เชื่อได้ว่าอาจมีการทำความผิดจริง กรณีนี้พนักงานสอบสวนก็สามารถออกหมายเรียกไปยังคู่กรณีในฐานะพยานเพื่อนำสอบคำให้การได้

เมื่อออกหมายเรียกไปแล้วอีกฝ่ายมาพบตามคำสั่ง หากเคลียร์กันลงตัวอีก ฝ่ายยอมรับผิดและชดใช้เงินคืน เช่น คดียักยอกทรัพย์ คดีฉ้อโกงธรรมดา แล้วยอมความกันการดำเนินคดีก็จะสิ้นสุดลงในชั้นสอบสวน แต่ถ้าเป็นความผิดอาญาแผ่นดินตำรวจก็จะต้องสรุปสำนวนส่งให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องต่อไป

แต่ถ้าออกหมายเรียกแล้วอีกฝ่ายไม่ยอมมาและไม่แจ้งเหตุผลว่าทำไมจึงไม่มาพบพนักงานสอบสวนตามคำสั่ง พนักงานสอบสวนก็สามารถขอให้ศาลออกหมายจับได้ เพราะถือเป็นการขัดคำสั่งเจ้าพนักงานไม่ยอมมาตามหมายเรียก ต้องถูกจับมาสอบปากคำ แต่ไม่ได้หมายความว่าถูกจับเพราะทำความผิดนะ และถูกจับแล้วเขาจะได้ประกันตัวหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของพนักงานสอบสวนและศาลตามลำดับ หากพนักงานสอบสวนไม่ให้ประกันตัวก็จะมีการนำตัวผู้ต้องหาไปฝากขัง เพื่อป้องกันการหลบหนีหรือไปวุ่นวายกับพยานหลักฐาน หลังฝากขังแล้วหากผู้ต้องหาอยากประกันตัวก็ต้องยื่นขอประกันตัวกับศาลต่อไป

นอกจากการออกหมายเรียกและขอหมายจับแล้ว พนักงานสอบสวนยังสามารถออกคำสั่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ด้วย เช่น มีคำสั่งให้ธนาคารอายัดเงินตามจำนวนที่มีการร้องทุกข์

แต่การดำเนินคดีก็ต้องใช้เวลา เพราะพนักงานสอบสวน 1 คนต้องดูแลคดีหลายร้อยคดี ทำให้อาจเกิดความล่าช้าในการดำเนินการได้ นอกจากนี้พนักงานสอบสวนจะต้องทำงานด้วยความรอบคอบให้มากที่สุด ต้องรวบรวมพยานหลักฐานและวิเคราะห์ข้อมูลให้ครบทุกด้านเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดใด ๆ พนักงานสอบสวนจึงต้องฟังความจากทั้ง 2 ฝ่าย ก่อนที่จะสรุปอะไรลงไปในสำนวนเพื่อให้อัยการนำไปพิจารณาฟ้องต่อศาลต่อไป เพราะการดำเนินคดีอาญามีเป้าหมาย คือ การค้นหาความจริงโดยใช้การตรวจสอบ พิสูจน์การกระทำความผิดว่ามีการทำผิดจริงหรือไม่และใครเป็นคนทำผิด

และพนักงานสอบสวนที่ดูแลคดีจะต้องรายงานผลการดำเนินคดีให้ผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษทราบด้วยนะ 

  1. เมื่อครบ 30 นับแต่วันที่แจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ
  2. เมื่อครบ 60 นับแต่วันที่แจ้งครั้งแรก
  3. เมื่อพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนและส่งให้พนักงานอัยการ

หรือมีการออกหมายจับ จับผู้ต้องหาได้ พนักงานสอบสวนก็ต้องแจ้งให้เรารับรู้ด้วย ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 419/2556 ข้อ 1.2

แจ้งความร้องทุกข์ไม่สำเร็จ
จะทำยังไงได้บ้าง

เวลาที่เราไปแจ้งความแล้วแต่พนักงานสอบสวนยังไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราแจ้งไปนั้นเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา พนักงานสอบสวนก็จะรับแจ้งความไว้ก่อน จากนั้นเขาจะนำเสนอให้หัวหน้างานพิจารณา หากตรวจสอบแล้วผู้บังคับบัญชามีคำสั่งว่าเป็นคดีอาญา พนักงานสอบสวนก็จะดำเนินการตามขึ้นต่อนต่อไป แต่หากมีคำสั่งว่าเป็นคดีแพ่งพนักงานสอบสวนก็จะชี้แจงให้เราทราบว่าไม่สามารถดำเนินการให้ได้นะ เราจะต้องมาฟ้องศาลด้วยตัวเอง และให้เราลงชื่อในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้เป็นหลักฐาน

รู้หรือไม่?! คดีแพ่งสามารถฟ้องศาลด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องจ้างทนาย!
JusThat บริการฟ้องด้วยตัวเอง ค่าบริการปรึกษาเริ่มต้น 1,500 บาท ประหยัดค่าจ้างทนายความได้หลายหมื่นบาท

  1. แอดไลน์ @justhatapp
  2. เช็คโอกาสชนะและค่าใช้จ่าย
  3. หากต้องการ ส่งฟ้องได้ทันที
Line-Chat-Portrait

อย่างไรก็ตามการที่ตำรวจรับแจ้งความ หรือเราฟ้องศาลด้วยตัวเองแล้วศาลประทับรับฟ้องแล้ว ก็ไม่ใช่เครื่องยืนยันว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยมีความผิดจริง เพราะการรับแจ้งความหรือฟ้องคดีต่อศาลเป็นเพียงการเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้ต่อสู้ พิสูจน์ข้อเท็จจริงและเรียกร้องความเป็นธรรม หากคดียังไม่สิ้นสุดก็ยังถือว่าฝ่ายที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด (Final Judgment) ถึงตอนนั้นเราจึงจะบอกได้เต็มปากว่าเขาทำความผิดจริง

เราจึงก็ไม่ควรนำข้อมูลต่าง ๆ ของอีกฝ่ายมาโพสต์ประจาน ถึงแม้ตัวเราจะรู้ความจริงทุกอย่างว่าเขาทำอะไรบ้าง แต่เราควรเก็บรักษาข้อมูลหลักฐานให้อยู่สภาพที่ดีและสมบูรณ์ที่สุดพร้อมนำไปใช้ประกอบการดำเนินคดี หากหลักฐานของเราแน่นและสมบูรณ์คู่กรณีก็ดิ้นไม่หลุดและจะไม่ทำให้เสียรูปคดีด้วย นอกจากนี้การประจานยังถือเป็นการหมิ่นประมาท และอาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาได้ในกรณีที่เปิดเป็นสาธารณะต้องการให้คนทั่วไปรับรู้ในวงกว้าง ซึ่งทำให้อีกฝ่ายสามารถดำเนินคดีกับเราได้ด้วยนะ

JusThat – รู้โอกาสแพ้ชนะ
ฟ้องแล้วคุ้ม? ภายใน 5 นาที

1

Bangkok, Thailand 
Line @justhatapp