1

JusThat

คิดให้ดี ก่อนตัดสินใจแจ้งความเท็จ

การแจ้งความร้องทุกข์ไม่ใช่เรื่องเล่น เพราะการแจ้งความร้องทุกข์ คือ การเริ่มต้นกระบวนการดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหา ดังนั้นต้องคิดให้ดี ต้องพูดความจริงทุกครั้ง ไม่อย่างนั้นคุณอาจโดนดำเนินคดีในข้อหาแจ้งความเท็จได้

สำหรับบทความนี้ JusThat จะพาทุกคนไปรู้จักกับการแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 173 และมาตรา 174 ซึ่งเป็นการแจ้งความเท็จเกี่ยวกับการทำความผิดอาญา แต่ละมาตรามีความแตกต่างกันยังไง แจ้งความเท็จมีโทษตามกฎหมายอย่างไร และทำแบบไหนจึงจะเรียกว่าเข้าข่ายแจ้งความเท็จเกี่ยวกับการทำความผิดอาญา

แจ้งความเท็จ มีโทษอย่างไร

ทำแบบไหน เรียกว่าเข้าข่ายความผิดฐานแจ้งความเท็จ

การแจ้งความเท็จแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

  1. การแจ้งความเท็จในเรื่องทั่วไป (มาตรา 137) 
  2. การแจ้งความเท็จเกี่ยวกับการทำความผิดอาญา (มาตรา 172 173 และ 174) 

มาตรา 172 การแจ้งความเท็จเกี่ยวกับการทำความผิดอาญาที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 172 ต้องเป็น

  • การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการทำความผิดอาญา
  • ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย
  • ต่อพนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานที่มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ผู้ว่าคดี หรือพนักงานอัยการเท่านั้น

มาตรา 173 เป็นการแจ้งความเท็จว่ามีการทำความผิดอาญาโดยรู้อยู่แล้วว่าไม่ได้มีการทำความผิดอาญา

  • รู้ว่าไม่มีการทำความผิดอาญา
  • แจ้งข้อความว่ามีการทำความผิดอาญา
  • ต่อพนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานที่มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาเท่านั้น

ตัวอย่างที่ 1 A ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่า B ขโมยสร้อยทองในบ้านของ A แต่ความจริงแล้ว B ไม่ได้ขโมยไป แต่ A เป็นคนนำสร้อยทองไปจำนำไว้กับ B ด้วยตัวเอง แบบนี้ A จะมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 172 และมาตรา 173 

ตัวอย่างที่ 2 C โดนขโมยกระเป๋าเงินแต่ไม่รู้ว่าใครขโมยไป แต่ C กลับไปแจ้งความร้องทุกข์ว่าเห็น D หยิบกระเป๋าเงินของตัวเองไป กรณีนี้ไม่ว่า D จะเป็นคนหยิบกระเป๋าเงินไปจริงหรือไม่ก็ตาม C ก็มีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 172 เพราะ C ไม่รู้ไม่เห็นว่าใครหยิบ แต่แจ้งความว่าเห็น D หยิบไป

มาตรา 174 เป็นการแจ้งความเท็จเพื่อแกล้งคนอื่น

  • แจ้งความเท็จตามมาตรา 172 หรือมาตรา 173
  • เพื่อแกล้งผู้หนึ่งผู้ใด (ใครก็ตาม)
  • ถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย เช่น ถูกกักกัน ถูกควบคุมตัวไว้ในสถานพยาบาล เป็นต้น
  • หรือได้รับโทษ (วรรค 2)
  • หรือได้รับโทษมากขึ้น (วรรค 2)

ตัวอย่างที่ 3 O ไม่ชอบ N จีงไปแจ้งความร้องทุกข์ว่า N ลักทรัพย์ของ O ไป เพื่อให้ N ถูกดำเนินคดีอาญาและรับโทษตามกฎหมาย ทั้งที่ O รู้อยู่แล้วว่า N ไม่ได้ลักทรัพย์ แบบนี้ O จะมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 172 173 และมาตรา 174 วรรค 2

ถ้าเป็นการแจ้งความเท็จในเรื่องทั่ว ๆ ไป ที่ไม่เกี่ยวกับการทำความผิดอาญา หรือแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ไม่ได้ถูกกำหนดเอาไว้ในมาตรา 172 หรือมาตรา 173 เช่น เอาโฉนดที่ดินไปจำนองไว้ แล้วไปแจ้งเจ้าพนักงานกรมที่ดินว่าโฉนดที่ดินหาย เพื่อขอออกใบแทน แบบนี้จะเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 137 

Facebook
Twitter
LinkedIn

ทำแบบไหน ไม่เข้าข่ายความผิดฐานแจ้งความเท็จ

ไม่ใช่ว่าคนแจ้งความเท็จจะมีความผิดฐานแจ้งความเท็จเสมอไปนะ เพราะการแจ้งความเท็จ ต้องเป็นการแจ้งข้อความที่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีตหรือปัจจุบันเท่านั้น ถ้าเป็นการแจ้งความเท็จโดยการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือแสดงความคิดเห็นไม่เข้าข่ายความผิดฐานแจ้งความเท็จ 

ตัวอย่างที่ 1 A ถูกเรียกไปสอบปากคำในฐานะพยาน และ A แจ้งข้อความว่า B อาจจะเป็นคนทำความผิดก็ได้ แต่ไม่แน่ใจว่า B ทำจริง ๆ ไหม เพราะ A ไม่เห็นตอนมีการทำความผิดเกิดขึ้น แบบนี้ A จะไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ เพราะ A ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าเห็น B ทำความผิด

แต่ถ้า A แจ้งกับพนักงานสอบสวนว่าเห็น B ทำความผิดแบบไหน อย่างไร ทั้งที่ความจริงแล้ว A ไม่ได้เห็นเหตุการณ์จริง ๆ แบบนี้ A จะมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ

และผู้แจ้งความเท็จต้องมีเจตนาแจ้งความเท็จ คือ ต้องรู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่แจ้งไปไม่ใช่ความจริง ถ้าเป็นการแจ้งความเท็จเพราะเข้าใจว่าสิ่งที่แจ้งไปเป็นความจริง หรือไม่รู้ว่าสิ่งที่แจ้งไปเป็นความเท็จ จะไม่เข้าข่ายความผิดฐานแจ้งความเท็จ

ตัวอย่างที่ 2  C ไปแจ้งความว่าถูก D ขโมยโทรศัพท์ไป เนื่องจาก O บอก C ว่าเห็น D หยิบโทรศัพท์ไป แต่ความจริงแล้ว O เป็นคนเอาไปเอง กรณีนี้แม้ว่า D จะไม่ได้ทำความผิดจริงและสิ่งที่ C ไปแจ้งเป็นข้อความเท็จ แต่ C ก็ไม่มีความผิด เพราะ C ไม่มีเจตนาแจ้งความเท็จ แต่เป็นการแจ้งความไปตามที่ตัวเองเข้าใจ 

แต่ถ้า C แจ้งความว่าเห็น D เป็นคนหยิบโทรศัพท์ไป ทั้งที่ตัวเองไม่เห็น แบบนี้ C จะมีความผิดฐานแจ้งความเท็จทันที

แจ้งความเท็จ ต้องรับโทษยังไง

แจ้งความเท็จเรื่องทั่วไปที่ไม่ใช่การทำความผิดอาญา หรือแจ้งความเท็จกับเจ้าพนักงานทั่วไป เช่น นายอำเภอ ตำรวจที่ไม่ใช่พนักงานสอบสวนและไม่ใช่เจ้าพนักงานที่มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา เจ้าพนักงานกรมที่ดิน เจ้าพนักงานคัดทะเบียนราษฎร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     มาตรา 137 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แจ้งความเท็จเกี่ยวกับการทำความผิดอาญา ต่อพนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานที่มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ผู้ว่าคดี หรือพนักงานอัยการ จนอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     มาตรา 172 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แจ้งความเท็จว่ามีการทำความผิดอาญญา โดยรู้อยู่แล้วว่าไม่ได้มีการทำความผิดอาญาต่อพนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานที่มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา มีโทษโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท

     มาตรา 173 ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงาน สอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่า ได้มีการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท

แจ้งความเท็จตามมาตรา 172 หรือมาตรา 173 เพื่อแกล้งให้คนอื่นถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย เช่น ถูกกักกัน ถูกควบคุมตัวไว้ในสถานพยาบาล มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท

แจ้งความเท็จตามมาตรา 172 หรือมาตรา 173 เพื่อแกล้งให้คนอื่นได้รับโทษ หรือได้รับโทษหนักขึ้น เช่น ถูกลักทรัพย์แต่แกล้งแจ้งความว่าถูกชิงทรัพย์ เป็นต้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท

     มาตรา 174 ถ้าการแจ้งข้อความตามมาตรา 172 หรือมาตรา 173 เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท

     ถ้าการแจ้งตามความในวรรคแรก เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

จะเห็นได้ว่า?! คดีลักษณะนี้มีความซับซ้อน
เราแนะนำให้เลือกใช้ทนายความที่มีประสบการณ์
หมดกังวลปัญหาทนายความทิ้งคดี
เช็คค่าใช้จ่ายได้ตั้งแต่ต้นจนจบโดย JusThat 

  1. แอดไลน์ @justhatapp
  2. ส่งหลักฐานให้ทนายความ
  3. เช็คแนวทางและค่าใช้จ่ายฟรี!
Line-Chat-Portrait

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าคุณได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นพยานศาล JusThat ได้นำข้อมูล หลักการปฏิบัติตัวในฐานะพยานศ

Read More »

ดราม่า ปังชา ว่าด้วยเรื่อง เครื่องหมายการค้า

“ปังชา” คำนี้ทุกคนมีสิทธิ์ใช้ ดราม่า #ปังชา ว่าด้วยเรื่อง เครื่องหมายการค้า กลายเป็นประเด็นร้อนในโซเชี่ยลเพียงชั่วข้ามคืนกับ #ปังชา ว่าด้ว

Read More »
สิ่งที่ลูกจ้างรายวันต้องรู้และนายจ้างต้องเข้าใจ

กฎหมายแรงงาน ลูกจ้างรายวันต้องรู้ นายจ้างต้องเข้าใจ

กฎหมายแรงงาน ลูกจ้างรายวันต้องรู้ นายจ้างต้องเข้าใจ เป็นลูกจ้างรายวันลาป่วยไม่ได้เงิน ลูกจ้างรายวันทำงานวันไหนก็ได้เงินแค่วันนั้น ลูกจ้างรายวันไม่ใช่พ

Read More »