1

JusThat

ฟ้องคดีแรงงานด้วยตัวเอง
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อจำเลยขาดนัดไกล่เกลี่ย

เมื่อกล่าวถึงการฟ้องคดีแรงงานต่อศาล หากไม่จำเป็นก็ไม่มีลูกจ้างคนไหนอยากฟ้อง เพราะการขึ้นลงศาลต้องใช้ทั้งเงินและเวลา อาจต้องลางานและยังต้องเดินทางไปกลับด้วย

แต่ถ้าลูกจ้างทวงเงินแล้วนายจ้างไม่จ่าย ไม่ว่าจะเป็นหนี้ค่าจ้าง หนี้ค่าทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน หนี้ค่าทำงานในวันหยุด หนี้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า หนี้ค่าชดเชย หรือเงินอื่น ๆ ที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายแต่ไม่ยอมจ่ายให้ลูกจ้าง ทางเดียวที่ลูกจ้างจะได้เงินมาแบบถูกฎหมายก็หนีไม่พ้นการไปฟ้องคดีแรงงานต่อศาล หรืออาจไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานก็ได้

ในบทความนี้ JusThat นำเสนอเรื่องลูกจ้างยื่นฟ้องคดีแรงงานไปแล้วและศาลมีการนัดไกล่เกลี่ย แต่ฝ่ายนายจ้างที่เป็นจำเลยกลับไม่ไปศาลตามนัด เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้โจทก์(ลูกจ้าง)ต้องทำยังไง ไม่เห็นจำเลยแล้วกลับบ้านเลยได้ไหม หรือต้องดำเนินการอะไรต่อไป อ่านรายละเอียดได้ในบทความนี้เลย

ฟ้องคดีแรงงานด้วยตัวเอง จำเลยขาดนัด อาจเท่ากับโจทก์ชนะคดีตั้งแต่ต้น

อ่านหัวข้อนี้แล้วบางคนอาจมีคำถามว่า JusThat ใช้คำว่า “อาจเท่ากับ” ทำไม ถ้าคุณอยากรู้ เราแนะนำให้อ่านข้อความด้านล่างต่อได้เลย

หลังจากยื่นคำฟ้องคดีแรงงานไปแล้ว ศาลจะแจ้งวันนัดให้ฝ่ายโจทก์ทราบ และจะส่งหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในวันนัดด้วย ซึ่งหมายเรียกจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อหาที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ฟ้องอะไรไปบ้างและมีคำขอบังคับยังไง (ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยทำอะไร จ่ายเงินจำนวนเท่าไหร่) ส่งไปพร้อมสำเนาคำฟ้องที่โจทก์ยื่นต่อศาลตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 37

     มาตรา 37 เมื่อศาลแรงงานสั่งรับคดีไว้พิจารณาแล้ว ให้ศาลแรงงานกําหนดวัน เวลาในการพิจารณาคดีโดยเร็ว และออกหมายเรียกจําเลยให้มาศาลตามกําหนด ในหมายนั้นให้จดแจ้งรายการแห่งข้อหาและคําขอบังคับให้จําเลยทราบ และให้ศาลแรงงานสั่งให้โจทก์มาศาลในวันเวลาเดียวกันนั้นด้วย 

     จําเลยจะยื่นคําให้การเป็นหนังสือก่อนวันเวลาที่ศาลแรงงานนัดให้มาศาลก็ได

Facebook
Twitter
LinkedIn

และเมื่อถึงวันนัดแล้วโจทก์(ลูกจ้าง)ต้องไปศาลตามนัดด้วยนะ ไม่ว่าศาลจะส่งหมายให้จำเลยได้หรือไม่ได้ เพราะถ้าโจทก์ไม่ไปตามวันนัดและไม่แจ้งความจำเป็นในศาลรู้ ศาลจะถือว่าโจทก์ไม่ต้องการดำเนินคดีต่อไป และจะจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรค 1 ซึ่งการจำหน่ายคดีไม่เหมือนการยกฟ้องนะ และทั้งสองอย่างนี้มีความแตกต่างกันยังไง JusThat จะเขียนบทความแยกให้และจะลิงก์กลับมาให้ได้อ่านกัน

การจำหน่ายคดีออกจากสารบบความนี้ทำให้คดีนั้นสิ้นสุดกระบวนการพิจารณาลง ว่ากันง่าย ๆ แบบภาษาทั่วไปคือ “ทิ้งฟ้องไปแล้วก็ถูกขับออกจากระบบไปเลย” 

แต่ถ้าฝ่ายจำเลยได้รับหมายเรียกแล้วไม่มาศาลตามนัด โดยไม่แจ้งความจำเป็นให้ศาลรู้ ศาลจะถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายขาดนัด และคดีจะยังอยู่ในศาลต่อไป โดยศาลจะมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรค 2

สำหรับการพิจารณาคดีชี้ขาดตัดสินไปฝ่ายเดียว อาจมีการสืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียวในวันนั้นเลย หรืออาจมีการนัดวันสืบพยานฝ่ายเดียวในวันอื่นก็ได้ ตรงนี้จะมีเจ้าหน้าที่ศาลถามวันที่โจทก์สะดวกและนัดให้ตรงกับวันที่ศาลขึ้นนั่งพิจารณาคดีได้ แล้วต้องรอศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณาและรอลงลายมื่อในรายงานกระบวนพิจารณาด้วยนะ จากนั้นให้รอรับสำเนารายงานกระบวนพิจารณาด้วย ห้ามกลับบ้านมือเปล่าเด็ดขาด 

     มาตรา 40 เมื่อโจทก์ได้ทราบคําสั่งให้มาศาลตามมาตรา 37 แล้วไม่มาตามกําหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานทราบเหตุที่ไม่มา ให้ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดําเนินคดีต่อไป ให้ศาลแรงงานมีคําสั่งจําหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ

     เมื่อจําเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามมาตรา 37 แล้วไม่มาตามกําหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานทราบเหตุที่ไม่มา ให้ศาลแรงงานมีคําสั่งว่าจําเลยขาดนัด และพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว 

     ในกรณีที่โจทก์หรือจําเลยได้แจ้งให้ศาลแรงงานทราบเหตุแล้ว และศาลแรงงานเห็นเป็นการสมควร ก็ให้กําหนดวันเวลานัดใหม่เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมาศาล

แต่ไม่ได้หมายความว่าจำเลยจะหมดสิทธิ์ในการต่อสู้คดีไปเลยทันทีนะ เพราะตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 41 กำหนดให้จำเลยหรือโจทก์ที่ขาดนัดยังสามารถแถลงให้ศาลรับรู้ถึงความจำเป็นที่มาไม่ได้ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง ถ้าศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าสมเหตุสมผล แบบนี้ศาลจะเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี(กรณีโจทก์ขาดนัด) หรือเพิกถอนคำสั่งจำเลยขาดนัด แล้วเริ่มกระบวนการพิจารณาคดีใหม่ อะไรที่เคยเกิดขึ้นหรือตัดสินไปแล้วจะไม่มีผลใช้บังคับไม่ได้ 

     มาตรา 41 ในกรณีที่ศาลแรงงานมีคําสั่งจําหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตาม มาตรา 40 วรรคหนึ่ง หรือมีคําสั่งว่าจําเลยขาดนัดตามมาตรา 40 วรรคสอง หากโจทก์หรือจําเลยมาแถลงให้ศาลแรงงานทราบถึงความจําเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคําสั่ง ศาลแรงงานมีอํานาจไต่สวนถึงเหตุแห่งความจําเป็นนั้นได้ และหากเห็นเป็นการสมควร ให้ศาลแรงงานมีคําสั่งเพิกถอนคําสั่งตามมาตรา 40 และดําเนินกระบวนพิจารณาที่ได้กระทําหลังจากที่ได้มีคําสั่งตามมาตรา 40 นั้นใหม่เสมือนหนึ่งมิได้เคยมีกระบวนพิจารณาเช่นว่านั้น

และนี่คือที่มาของการใช้คำว่า “อาจเท่ากับ” เพราะการที่จำเลยขาดนัดแล้วโจทก์มีโอกาสชนะคดีมากขึ้น ต้องดูด้วยว่าจำเลยแจ้งเหตุผลจำเป็นให้ศาลรับรู้หรือไม่ ถ้าไม่แจ้งในวันนัดแล้วจำเลยได้แจ้ง(แถลง)ให้ศาลรู้ภายใน 7 วันนับแต่ศาลมีคำสั่งหรือเปล่า ถ้ามี 1 ใน 2 อย่างนี้ จำเลยอาจยังมีโอกาสต่อสู้คดีอยู่ แต่ถ้าจำเลยไม่สนใจอะไรเลย ไม่แจ้งเหตุผล ไม่ไปศาลและไม่แจ้งให้ศาลรู้ภายใน 7 วันว่าทำไมจึงไปไม่ได้ หรือแจ้งแล้วแต่เป็นเหตุผลที่ไม่สมควร แบบนี้โอกาสของจำเลยก็หมดลงแล้ว และศาลรับฟังพยานหลักฐานและคำเบิกความของโจทก์ไปฝ่ายเดียวเลย

รู้หรือไม่?! คดีแบบนี้ฟ้องศาลด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องจ้างทนาย!
JusThat บริการฟ้องด้วยตัวเอง 
ค่าบริการปรึกษาเริ่มต้น 1,500 บาท 
ประหยัดค่าทนายความได้หลายหมื่นบาท

  1. แอดไลน์ @justhatapp
  2. เช็คโอกาสชนะและค่าใช้จ่าย
  3. หากต้องการ ส่งฟ้องได้ทันที
Line-Chat-Portrait

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท ตั้งแต่คลอดออกมาและอยู่รอดเป็นทารก คนคนนั้นจะมีสภาพเป็นบุคคล เมื่อมีสภาพบุคคลแล้วจะมีกองทรัพย์

Read More »

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าคุณได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นพยานศาล JusThat ได้นำข้อมูล หลักการปฏิบัติตัวในฐานะพยานศ

Read More »

รับช่วงสิทธิ คืออะไร

รับช่วงสิทธิ คืออะไร รับช่วงสิทธิ คืออะไร มีความสัมพันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างไร JusThat จะพาไปหาคำตอบและทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้เลย

Read More »