1

JusThat

ลูกจ้างทำผิดซ้ำคำเตือน
นายจ้างไล่ออกได้เลย โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ถ้าลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน ลูกจ้างคนนั้นจะมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง และนายจ้างต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างที่นายจ้างไล่ออก ให้ออกจากงานก่อนถึงวันสิ้นสุดสัญญาตามกฎหมาย แม้ลูกจ้างคนนั้นจะยังทำงานไม่ครบ 120 วันก็ตาม เว้นแต่ลูกจ้างคนนั้นเป็นลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงานแบบกำหนดระยะเวลาและได้เลิกจ้างตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ 

แต่ถ้าเป็นสัญญาจ้างทดลองงานที่กำหนดระยะเวลา นายจ้างก็ยังต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และยังต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าให้ ถ้านายจ้างไล่ลูกจ้างออกโดยไม่มีความผิด และไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17

แต่กฎหมายก็ยังมีข้อยกเว้นให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยกรณีลูกจ้างทำความผิด โดยกำหนดไว้ในมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541  ซึ่งในบทความนี้ JusThat จะยกเรื่องของการทำผิดซ้ำคำเตือนมาเล่าสู่กันฟัง

ข้อยกเว้น นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 (4)

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) กำหนดไว้ว่า นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้ (4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน ระเบียบ หรือคําสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จําเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทําผิด

แปลว่า ถ้าลูกจ้างได้ทำความผิดใดความผิดหนึ่งที่ไม่ร้ายแรง และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง ตรงนี้ต้องย้ำมาก ๆ เลยนะว่า ต้องชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม ลูกจ้างคนนั้นก็อาจได้รับหนังสือเตือนได้ เช่น A ไปทำงานสายบ่อยวันละ 5 นาที สัปดาห์ละ 3-4 วันเป็นประจำและนายจ้างได้ออกหนังสือเตือนเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าว เป็นต้น

แต่ถ้านายจ้างมีระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่เป็นธรรม แม้นายจ้างจะออกหนังสือเตือน หนังสือเตือนนั้นก็จะใช้อ้างไม่ได้ตามมาตรานี้ เช่น B ถูกนายจ้างลวนลามในที่ทำงาน และนายจ้างสั่งให้ B ไปขโมยข้อมูลมาจากบริษัทคู่แข่ง แต่ B ไม่ยอมทำ นายจ้างจึงออกหนังสือเตือนว่า B ขัดคำสั่ง เป็นต้น

เมื่อนายจ้างได้ออกหนังสือเตือนถึงลูกจ้างแล้ว หนังสือเตือนนั้นจะมีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมายสูงสุด 1 ปี แปลว่า ถ้านายจ้างกำหนดอายุของหนังสือเตือนไว้ 2 ปี หนังสือเตือนนั้นก็จะมีอายุแค่ 1 ปี เป็นต้น ซึ่งการนับอายุ 1 ปีนี้ จะเรื่มนับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างทำความผิดนั้น เช่น C แอบใช้คอมที่ทำงานเล่น FaceBook ส่วนตัวในเวลางาน ในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2566 และนายจ้างได้ออกหนังสือเตือน ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2566 หนังสือเตือนนั้นจะมีอายุบังคับใช้ได้สูงสุดถึงวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2567 

ถ้าลูกจ้างทำผิดซ้ำคำเตือนในความผิดเดิมภายใน 1 ปี นายจ้างสามารถไล่ลูกจ้างออกได้เลยโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และความผิดนั้นจะต้องเป็นความผิดเดิมที่เคยระบุไว้ในหนังสือเตือนด้วยนะ 

Facebook
Twitter
LinkedIn

ข้อยกเว้น ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย แม้ลูกจ้างจะกระทำความผิดตามมาตรา 119

อย่างไรก็ตาม กฎหมายยังมีข้อยกเว้นให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างที่ทำผิดซ้ำคำเตือนไว้ด้วย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีนายจ้างไล่ลูกจ้างออกและไม่มีหนังสือเลิกจ้างที่ระบุข้อเท็จจริงหรือสาเหตุที่เลิกจ้างลูกจ้างไว้ หรือนายจ้างไม่ได้บอกเหตุผลว่าตนเองเลิกจ้างลูกจ้างเพราะอะไรในตอนที่เลิกจ้าง ทำให้นายจ้างยังต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง ถ้านายจ้างไม่จ่ายก็ต้องยอมรับผิดในดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีของค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคแรก เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ว่า นายจ้างจะยกเหตุขณะเลิกจ้างขึ้นมาอ้างภายหลังไม่ได้นั่นเอง

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

     มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่ง กรณีใด ดังต่อไปนี้

     (1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

     (2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

     (3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

     (4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทางาน ระเบียบ หรือคําสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จําเป็นต้องตักเตือน

     หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทําผิด

     (5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทางานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร

     (6) ได้รับโทษจําคุกตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก

     ในกรณี (6) ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

     การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างนายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้

รู้หรือไม่?! คดีแบบนี้ฟ้องศาลด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องจ้างทนาย!
JusThat บริการฟ้องด้วยตัวเอง 
ค่าบริการปรึกษาเริ่มต้น 1,500 บาท 
ประหยัดค่าทนายความได้หลายหมื่นบาท

  1. แอดไลน์ @justhatapp
  2. เช็คโอกาสชนะและค่าใช้จ่าย
  3. หากต้องการ ส่งฟ้องได้ทันที
Line-Chat-Portrait

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท ตั้งแต่คลอดออกมาและอยู่รอดเป็นทารก คนคนนั้นจะมีสภาพเป็นบุคคล เมื่อมีสภาพบุคคลแล้วจะมีกองทรัพย์

Read More »

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าคุณได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นพยานศาล JusThat ได้นำข้อมูล หลักการปฏิบัติตัวในฐานะพยานศ

Read More »

รับช่วงสิทธิ คืออะไร

รับช่วงสิทธิ คืออะไร รับช่วงสิทธิ คืออะไร มีความสัมพันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างไร JusThat จะพาไปหาคำตอบและทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้เลย

Read More »