1

JusThat

รู้ไว้ใช่ว่า อาชีพทนายความก็มีข้อบังคับ : มรรยาททนายความ ทำแบบไหนจึงมีความผิด

จะฟ้องร้องคู่กรณีให้ได้รับโทษหรือรับผิดชอบหนี้ที่ก่อขึ้น ครั้นจะเปิดกฎหมายศึกษาเองทั้งหมดก็คงไม่มีเวลามากพอ และหากไม่มีที่ปรึกษาทางกฎหมายเลย ไม่รู้ว่าต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง สิ่งแรกที่หลายคนคิดถึงก็คงหนีไม่พ้นทนายความ เพราะทนายความคือผู้ที่ศึกษากฎหมายมาจนเชี่ยวชาญ รู้วิธีดำเนินการในคดีต่าง ๆ มากกว่าประชาชนทั่วไปทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา และรู้หรือไม่ว่าอาชีพทนายความก็มีข้อบังคับเหมือนกัน นั่นก็คือ มรรยาททนายความ

บทความนี้เราจะพาทุกคนมาดูเรื่องของมรรยาททนายความ มรรยาททนายความ คืออะไร หากทนายความทำผิดจะได้รับโทษอย่างไรบ้าง และมรรยาททนายความมีอะไรบ้าง JustThat รวบรวมไว้ให้ในบทความนี้แล้ว

ทนายความทำผิดมรรยาททนายความ

มรรยาททนายความ คืออะไร

ด้วยความที่ทนายความคือวิชาชีพหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คน และเพื่อให้ทนายความทุกคนปฎิบัติตามแนวทางของวิชาชีพ จึงต้องมีสภาทนายความกำกับดูแลทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 และมีการบังคับใช้ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ด้วย มรรยาททนายความจึงเป็นข้อบังคับที่เป็นแนวทางในการประกอบวิชาชีพทนายความ ซึ่งทนายความทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม โดยมรรยาททนายความจะแบ่งออกเป็น 5 แบบ

  1. มรรยาทต่อศาลและในศาล
  2. มรรยาทต่อตัวความ
  3. มรรยาทต่อทนายความด้วยกัน ต่อประชาชน
  4. มรรยาทในการแต่งกาย
  5. มรรยาทในการปฎิบัติตามคำสั่งตามกฎหมายและข้อบังคับ
โดยหน่วยงานที่ดูแลเรื่องมรรยาททนายความจะถูกตั้งแยกออกมาจากสภาทนายความอีกที เรียกว่า คณะกรรมการมรรยาททนายความ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเรื่องที่เกี่ยวกับมรรยาททนายความโดยเฉพาะ หากมีการร้องเรียนคดีมรรยาททนายความ ก็จะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการมรรยาททนายความ เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนคดีมรรยาทต่อไป

โทษของการผิดมรรยาททนายความ มีอะไรบ้าง

มีข้อบังคับย่อมต้องมีโทษของการผิดข้อบังคับ เหมือนเราทำผิดกฎหมายก็ต้องได้รับโทษ ทนายความที่ทำผิดข้อบังคับของวิชาชีพก็ต้องได้รับโทษเช่นกัน ตามที่ พ.ร.บ.ทนายความ มาตรา 51 ระบุไว้ว่า “ทนายความต้องประพฤติตนตามข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความ การกำหนดมรรยาททนายความให้สภาทนายความตราเป็นข้อบังคับ

ทนายความผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับที่สภาทนายความตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าทนายความผู้นั้นประพฤติผิดมรรยาททนายความ”

โดยโทษสำหรับทนายความที่ฝ่าฝืนมรรยาททนายความ มี 3 แบบตามมาตรา 52 เรียงจากเบาไปหนัก     

  1. ภาคทัณฑ์ เป็นโทษที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา เปรียบเหมือนผู้ที่ทำความผิดครั้งแรกก็โดนรอลงอาญาไว้ก่อน และหากทนายความคนไหนโดนภาคทัณฑ์ก็จะไม่สามารถไปสอบเป็นผู้พิพากษา อัยการได้
  2. ห้ามทำการเป็นทนายความ มีกำหนดไม่เกินสามปี เมื่อพ้นโทษก็ยังสามารถกลับไปประกอบอาชีพการเป็นทนายความได้ปกติ
  3. ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ ไม่สามารถประกอบอาชีพทนายความได้อีกต่อไป

 

แต่หากหากเป็นความผิดเล็กน้อยและเป็นครั้งแรก อาจได้รับโทษเพียงตักเตือนหรือทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือไว้ก่อนก็ได้

โดยโทษในข้อ 2 และ 3 จะมีการแจ้งคำสั่งให้ศาลทั่วประเทศและเนติบัณฑิตยสภาทราบด้วยตามมาตรา 70 วรรค 2 และทนายความที่ถูกลบชื่อออกก็จะไม่สามารถประกอบอาชีพทนายความได้อีก แต่ถ้าหากยังอยากเป็นทนายความอยู่ ก็ต้องรอให้เวลาผ่านไปอย่างน้อย 5 ปีตั้งแต่วันที่ถูกลบชื่อออก จึงสามารถขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความได้ตามมาตรา 71 เรียกว่าถูกลบชื่อครั้งหนึ่งต้องเปลี่ยนอาชีพและรอไปอีกหลายปีเลยกว่าจะได้กลับมาเป็นทนายความได้อีก

ทำแบบไหนคือผิดมรรยาททนายความ

ตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ข้อ 4 ระบุว่า หากทนายความผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าทนายความผู้นั้นประพฤติผิดมรรยาททนายความ

มรรยาทต่อศาลและในศาล 

ข้อ 5 ไม่รับหน้าที่เมื่อผู้พิพากษาได้ขอแรงให้เป็นทนายความแก้ต่างในคดีอาญา เว้นแต่จะมีข้อแก้ตัว โดยสมควร

ข้อ 6 ไม่เคารพยำเกรงอำนาจศาล หรือกระทำการใดอันเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในศาลหรือนอกศาล อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียอำนาจผู้พิพากษา

ข้อ 7 กล่าวความ หรือทำเอกสารหรือหลักฐานเท็จ หรือใช้อุบายลวงให้ศาลหลงหรือกระทำการใด เพื่อทราบคำสั่ง หรือคำพิพากษาของศาลที่ยังไม่เปิดเผย

ข้อ 8 สมรู้เป็นใจโดยตรงหรือทางอ้อม เพื่อทำพยานหลักฐานเท็จ หรือเสี้ยมสอนพยานให้เบิกความเท็จ หรือโดยปกปิดซ่อนงำอำพรางพยานหลักฐานใดๆ ซึ่งควรนำมายื่นต่อศาล หรือสัญญาจะให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน หรือสมรู้เป็นใจในการให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน

มรรยาทต่อตัวความ

ข้อ 9 กระทำการใดอันเป็นการยุยงส่งเสริมให้มีการฟ้องร้องคดีกันในกรณีอันหามูลมิได้

ข้อ 10 ใช้อุบายอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวต่อไปนี้ เพื่อจูงใจให้ผู้ใดมอบคดีว่าต่างหรือแก้ต่าง

  • หลอกลวงให้เขาหลงว่าคดีนั้นจะชนะ เมื่อตนรู้สึกแก่ใจว่าจะแพ้
  • อวดอ้างว่าตนมีความรู้ยิ่งกว่าทนายความอื่น
  • อวดอ้างว่าเกี่ยวเป็นสมัครพรรคพวกรู้จักคุ้นเคยกับผู้ใดอันกระทำให้เขาหลงว่าตนสามารถจะทำให้เขาได้รับผลเป็นพิเศษ นอกจากทางว่าความ หรือหลอกลวงว่าจะชักนำจูงใจให้ผู้นั้นช่วยเหลือคดีในทางใดๆได้ หรือแอบอ้างขู่ว่าถ้าไม่ให้ตนว่าคดีนั้นแล้วจะหาหนทางให้ผู้นั้นกระทำให้คดีของเขาเป็นแพ้

ข้อ 11 เปิดเผยความลับของลูกความที่ได้รู้ในหน้าที่ของทนายความ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากลูกความนั้นแล้ว หรือโดยอำนาจศาล

ข้อ 12 กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้ อันอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ

  • จงใจขาดนัด หรือทอดทิ้งคดี
  • จงใจละเว้นหน้าที่ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีแห่งลูกความของตน หรือปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบ

ข้อ 13 ได้รับปรึกษาหารือ หรือได้รู้เรื่องกรณีแห่งคดีใดโดยหน้าที่อันเกี่ยวข้องกับคู่ความฝ่ายหนึ่ง แล้วภายหลังไปรับเป็นทนายความหรือใช้ความรู้ที่ได้มานั้นช่วยเหลือคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นปรปักษ์อยู่ในกรณีเดียวกัน

ข้อ 14 ได้รับเป็นทนายความแล้ว ภายหลังใช้อุบายด้วยประการใดๆ โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เพื่อจะให้ตนได้รับประโยชน์นอกเหนือจากที่ลูกความได้ตกลงสัญญาให้

ข้อ 15 กระทำการใดอันเป็นการฉ้อโกง ยักยอก หรือตระบัดสินลูกความ หรือครอบครอง หรือหน่วงเหนี่ยวเงินหรือทรัพย์สินของลูกความที่ตนได้รับมาโดยหน้าที่อัน เกี่ยวข้องไว้นานเกินกว่าเหตุ โดยมิได้รับความยินยอมจากลูกความ เว้นแต่จะมีเหตุอันสมควร

มรรยาทต่อทนายความด้วยกัน ต่อประชาชน

ข้อ 16 แย่ง หรือกระทำการใดอันเป็นลักษณะประมูลคดีที่มีทนายความอื่นว่าต่างแก้ต่างอยู่แล้วมาว่า หรือรับ หรือสัญญาว่าจะรับว่าต่าง แก้ต่าง ในคดีที่รู้ว่ามีทนายความอื่นอยู่แล้ว เว้นแต่

  • ได้รับความยินยอมจากทนายความที่ว่าความอยู่ในเรื่องนั้นแล้ว
  • มีเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่าตัวความได้ถอนทนายความคนก่อนจากการเป็นทนายความของเขาแล้ว หรือ 
  • ทนายความผู้ว่าความในเรื่องนั้นปฏิเสธ หรือแสดงความไม่สมัครใจที่จะว่าความในคดีนั้นต่อไปแล้ว

ข้อ 17 ประกาศโฆษณา หรือยอมให้ผู้อื่นประกาศโฆษณาใดๆ ดังต่อไปนี้

  • อัตราค่าจ้างว่าความ หรือแจ้งว่าไม่เรียกร้องค่าจ้างว่าความ เว้นแต่การประกาศโฆษณาของทนายความที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ซึ่งดำเนินการโดยสภาทนายความเอง หรือโดยสถาบัน สมาคม องค์การ หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หรือ
  • ชื่อ คุณวุฒิ ตำแหน่ง ถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงาน อันเป็นไปในทางโอ้อวด เป็นเชิงชักชวนให้ผู้มีอรรถคดีมาหาเพื่อเป็นทนายความว่าต่าง หรือแก้ต่างให้ เว้นแต่การแสดงชื่อ คุณวุฒิ หรืออื่นๆ ดังกล่าวตามสมควรโดยสุภาพ

ข้อ 18 ประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจ หรือประพฤติตนเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความ

ข้อ 19 ยินยอมตกลง หรือให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ค่านายหน้าหรือบำเหน็จรางวัลใดๆ ด้วยทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ แก่ผู้ที่หาคดีความหรือนำคดีความมาให้ หรือมีคนประจำสำนักงานดำเนินการจัดหาคดีความมาให้ว่า โดยทนายความผู้นั้นคิดค่าส่วนลดของค่าจ้างให้ หรือให้เงินเดือน หรือเงินจำนวนหนึ่งจำนวนใด หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างใดๆ แก่ผู้ทีหาคดีความมาให้นั้น แม้บุคคลผู้หาคดีความมาให้ในลักษณะดังกล่าวจะเป็นเสมียนหรือลูกจ้างประจำ สำนักงานของทนายความผู้นั้นก็ตาม

มรรยาทในการแต่งกาย

ข้อ 20 ในเวลาว่าความทนายความต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  • ทนายความชาย แต่งตามแบบสากลนิยม เป็นชุดสีชาว หรือสีอื่นที่ไม่ฉูดฉาด เชิ้ตยาว ผ้าผูกคอสีดำหรือสีอื่นที่สุภาพไม่ฉูดฉาดแบบเงื่อนกลาสี หรือแต่งเสื้อชุดไทยแบบแขนสั้นหรือยาว สีสุภาพไม่มีลวดลายแทนเสื้อชุดสากลก็ได้ รองเท้าหุ้มส้นสีขาว น้ำตาลหรือดำ ถุงเท้าสีคล้ายคลึงกับรองเท้า
  • ทนายความหญิง แต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีสุภาพไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น
  • ทนายความที่มีสิทธิแต่งเครื่องแบบราชการ จะแต่งเครื่องแบบราชการก็ได้
  • ในขณะว่าความ ทนายความที่มีสิทธิสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิต ต้องสวมเสื้อครุยนั้นด้วย

มรรยาทในการปฎิบัติตามคำสั่งตามกฎหมายและข้อบังคับ

ข้อ 21  ทนายความจะต้องปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของสภานายก พิเศษแห่งสภาทนายความ คณะกรรมการสภาทนายความ และคณะกรรมการมรรยาททนายความ ตลอดจนบรรดาข้อบังคับหรือข้อกำหนดที่บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวได้สั่งหรือ มีไว้ แล้วแต่กรณี ตามอำนาจหน้าที่ซึ่งมีอยู่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

รู้หรือไม่?! ยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรงได้ จะทำให้เรื่องถึงชั้นศาลได้เร็วขึ้น
JusThat ค่าบริการปรึกษาเริ่มต้น 1,500 บาท บริการส่งฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา

  1. แอดไลน์ @justhatapp
  2. เริ่มต้นทำแบบประเมิน
  3. หากต้องการ ส่งฟ้องได้ทันที
Line-Chat-Portrait
ทนายความเปิดเผยความลับของลูกความ มีความผิดทั้งมรรยาททนายความ และความผิดอาญา

ทนายความเปิดเผยความลับลูกความได้หรือไม่

ทนายความเปิดเผยความลับลูกความมีความผิดหรือไม่ ทุกคนมีความลับของตัวเองที่ไม่อยากใครรู้ แต่บางครั้งเราก็หลีกเลี่ยงการบอกความนั้นกับคนอื่นไม่ได้ เช่น การ

Read More »
ตรวจสอบรายชื่อทนายความผ่านช่องทางออนไลน์

ตรวจสอบรายชื่อทนายความผ่านช่องทางออนไลน์ง่าย ๆ ใน 3 ขั้นตอน

ตรวจสอบรายชื่อทนายความผ่านช่องทางออนไลน์ง่าย ๆ ใน 3 ขั้นตอน นับว่าเป็นข่าวดีต้อนรับปี 2023 เนื่องจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์เปิดให้บุคคลทั่วไปสาม

Read More »

เช็คข้อมูลทนายความจริง ทนายความปลอม ได้ง่าย ๆ แค่ทำตาม 3 ขั้นตอนนี้

เช็คข้อมูลทนายจริง ทนายปลอม ได้ง่าย ๆ แค่ทำตาม 3 ขั้นตอนนี้ ถูกทนายความปลอมฉ้อโกงหลอกเอาเงิน รับว่าความให้แล้วทิ้งคดีติดต่อไม่ได้ ทำคดีไม่ได้จริงตามที

Read More »