1

JusThat

7 ข้อควรรู้ ก่อนทำสัญญาประนีประนอมยอมความ

การทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นอีกหนึ่งวิธีที่มักถูกนำมาใช้ในการยุติความขัดแย้ง เพราะการทำสัญญาแบบนี้จะช่วยลดขั้นตอนในการดำเนินการทางกฎหมายได้ ถ้าตกลงกันได้และยอมประนีประนอมกันเพื่อให้ปัญหาจบลงก็ไม่จำเป็นต้องไปฟ้องศาลเพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเอง 

แต่ถ้าจำเป็นต้องฟ้องคดีแพ่งต่อศาลเพื่อเรียกร้องสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความเพราะอีกฝ่ายไม่ยอมทำตามสัญญา สัญญาที่ทำขึ้นมาต้องใช้บังคับกันได้ตามกฎหมายด้วยจึงจะไปฟ้องร้องบังคับคดีกันได้

JusThat จึงรวบรวม 7 ข้อควรรู้ก่อนทำสัญญาประนีประนอมยอมความมาไว้ให้ทุกคนในบทความนี้ เพราะไม่มีใครควรพลาดในการทำสัญญา และไม่มีใครควรเสียสิทธิที่ตัวเองควรมี

7 ข้อควรรู้ก่อนทำสัญญาประนีประนอมยอมความ

1. สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเอกเทศสัญญา

สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสัญญาที่กฎหมายกำหนดชื่อและกำหนดกฎเกณฑ์ของสัญญาไว้โดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ดังนั้นแม้จะมีการเรียกสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นชื่ออื่น เช่น หนังสือรับสภาพหนี้ ถ้าคู่สัญญามีจุดประสงค์ให้ข้อขัดแย้ง(ข้อพิพาท)เดิมจบลงด้วยการยินยอมผ่อนผันให้กัน สัญญานั้นก็คือสัญญาประนีประนอมยอมความ

     มาตรา 850 อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน

2. การทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ต้องมีคู่สัญญา 2 ฝ่าย

ได้ชื่อว่าเป็นสัญญายังไงก็ต้องมีบุคคล 2 ฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจเป็นบุคคลธรรมดาทั้งหมด หรือมีนิติบุคคลเป็นคู่สัญญาด้วยก็ได้ เพราะการทำสัญญากันคู่สัญญาต้องมีเจตนาตรงกันทั้ง 2 ฝ่ายจึงจะมีผลผูกพันกันตามกฎหมาย ถ้าเป็นการทำเอง เออเองไปแค่ฝ่ายเดียว แบบนี้เราไม่เรียกว่ามีการทำสัญญาแต่เป็นการแสดงเจตนา

3. คู่สัญญาต้องมีความสามารถในการทำสัญญา

ปกติแล้วคู่สัญญาสามารถทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามลำพังได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากใคร ถ้ามีครบทั้ง 3 ข้อนี้ คือ
  • ไม่เป็นผู้เยาว์ คือ บรรลุนิติภาวะแล้ว 
  • ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ
  • ไม่เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ 

กรณีเป็นคนไร้ความสามารถจำเป็นต้องมีคนทำแทนเท่านั้น คือ ผู้อนุบาลเป็นผู้ทำการแทนทั้งหมดเพราะคนไร้ความสามารถไม่สามารถทำนิติกรรมสัญญาได้ด้วยตัวเอง ถ้าคนไร้ความสามารถทำสัญญาเอง สัญญาที่ทำนั้นจะตกเป็นโมฆียะ(ใช้บังคับได้แต่จะไม่มีผลบังคับถ้าถูกบอกล้าง) ตาม ป.พ.พ. มาตรา 29 

กรณีเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อนถึงจะสามารถทำสัญญาประนีประนอมยอมความเองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 34 วรรค 1 ข้อ 11 

ถ้าคนเสมือนไร้ความสามารถทำสัญญายอมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำขึ้นจะตกเป็นโมฆียะ แต่ต้องดูข้อเท็จจริงด้วยนะว่าคนเสมือนไร้ความสามารถเขาได้ขออนุญาตจากศาลให้ทำได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ตามมาตรา 35 หรือเปล่า 

กรณีเป็นผู้เยาว์ยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ กรณีนี้จำเป็นต้องขออนุญาตจากศาลเท่านั้น ถ้าพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ยินยอมให้ผู้เยาว์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแต่ไม่ได้รับอนุญาตจากศาล สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำขึ้นจะเป็นโมฆะ(ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายเลยตั้งแต่ต้น) เพราะผู้ปกครอง พ่อ แม่ ไม่สามารถให้ความยินยอมด้วยตัวเองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 ข้อ 12

4. ผู้แทนโดยชอบธรรมทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนผู้เยาว์เองไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากศาล

นอกจากพ่อ แม่ ผู้ปกครองในฐานะผู้แทนโดยชอบทำของผู้เยาว์ จะให้ความยินยอมเองไม่ได้แล้ว ยังทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนผู้เยาว์เองไม่ได้ด้วยถ้าไม่มีรับอนุญาตจากศาลก่อน เพราะการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเป็นการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) จึงต้องมีการขออนุญาตจากศาลก่อนเท่านั้นถึงจะทำได้ 

ถ้าทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล สัญญาที่ทำขึ้นมาจะไม่มีผลผูกพันผู้เยาว์และถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายตกเป็นโมฆะทันที

5. จุดประสงค์ของสัญญาประนีประนอมยอมความต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย

ว่ากันง่าย ๆ ก็คือต้องมีไม่จุดประสงค์ไม่มีข้อตกลงที่ขัดกับกฎหมาย มีความเป็นไปได้จริง เป็นเรื่องทำตามได้จริง(ไม่เป็นการพ้นวิสัย) และไม่ขัดกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่อย่างนั้นสัญญาที่ทำขึ้นจะเป็นโมฆะใช้บังคับกันไม่ได้

6. สัญญาประนีประนอมยอมความต้องเกิดจากความสมัครใจ

สัญญาจะสมบูรณ์ได้คู่สัญญาต้องสมัครใจ ยินยอมเข้าทำสัญญาด้วยตัวเองเท่านั้น ต้องมีความเข้าใจตรงกันตามที่ตั้งใจไว้ ไม่มีการเข้าใจผิด หรือโดนหลอกลวงให้เข้าใจผิด ไม่โดนข่มขู่ คุกคาม บังคับขู่เข็นให้ทำสัญญา 

7. ต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทุกครั้ง

ทำไมต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดทุกครั้ง 

  • เพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง เพราะการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการยอมสละสิทธิบางอย่างหรือทั้งหมดที่มีอยู่ แล้วรับเอาสิทธิใหม่ตามสัญญามาแทน
  • เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าตกลงอะไรกันไปบ้าง ใครจะได้อะไร เท่าไหร่ ยังไง ใครมีหน้าที่ต้องทำอะไร จะไม่ทำอะไร 
  • เพื่อให้มีพยานหลักฐานไว้ใช้ยืนยันสิ่งที่ตกลงกันไว้ จะได้ไม่เกิดปัญหากันขึ้นทีหลังว่าไม่ได้ตกลงกันแบบนี้ 
  • เพื่อใช้ฟ้องศาลถ้าอีกฝ่ายไม่ทำตามสัญญา โดยการฟ้องให้อีกฝ่ายทำตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำขึ้น ไม่ใช่ฟ้องตามหนี้เดิมนะ แต่ถ้าไม่ได้ทำเป็นหนังสือสัญญาและไม่มีลายมือชื่อของฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบแบบนี้จะฟ้องศาลเพื่อบังคับให้อีกฝ่ายทำตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้
  • เพื่อใช้เป็นข้อต่อสู้ถ้าถูกฟ้อง ฝ่ายที่เป็นจำเลยจะสามารถยกสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำขึ้นมาสู้ได้ แต่ถ้าไม่ได้ทำหนังสือสัญญาไว้ก็จะยกขึ้นมาสู้ในศาลไม่ได้ ว่ากันง่าย ๆ ก็คือ เอาไปฟ้องก็ไม่ได้ ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ก็ไม่ได้เหมือนกัน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
     มาตรา 851 อันสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
Facebook
Twitter
LinkedIn

จะเห็นได้ว่า?! คดีลักษณะนี้มีความซับซ้อน
เราแนะนำให้เลือกใช้ทนายความที่มีประสบการณ์
หมดกังวลปัญหาทนายความทิ้งคดี
เช็คค่าใช้จ่ายได้ตั้งแต่ต้นจนจบโดย JusThat 

  1. แอดไลน์ @justhatapp
  2. ส่งหลักฐานให้ทนายความ
  3. เช็คแนวทางและค่าใช้จ่ายฟรี!
Line-Chat-Portrait

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท ตั้งแต่คลอดออกมาและอยู่รอดเป็นทารก คนคนนั้นจะมีสภาพเป็นบุคคล เมื่อมีสภาพบุคคลแล้วจะมีกองทรัพย์

Read More »

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าคุณได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นพยานศาล JusThat ได้นำข้อมูล หลักการปฏิบัติตัวในฐานะพยานศ

Read More »

รับช่วงสิทธิ คืออะไร

รับช่วงสิทธิ คืออะไร รับช่วงสิทธิ คืออะไร มีความสัมพันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างไร JusThat จะพาไปหาคำตอบและทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้เลย

Read More »