1

JusThat

จ้างต่อเติมบ้านแต่ผู้รับเหมาใช้ของไม่มีคุณภาพ จะทำยังไงดี

บ้านใครใครก็รัก บ้านใครใครก็หวง ใคร ๆ ก็อยากอยู่บ้านที่ถูกใจตัวเองกันทั้งนั้น การต่อเติมปรับปรุงบ้านจึงเป็นทางเลือกที่ใครหลาย ๆ คนเลือกใช้ เพื่อให้บ้านมีฟังก์ชั่นที่ครบครันและง่ายต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากที่สุด แต่วันดีคืนดีเจ้าของบ้านก็ได้พบเจอกับผู้รับเหมาที่ไม่มีความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นเรื่องหนักหนักใจของใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะเรื่องที่ผู้รับเหมาใช้วัสดุคุณภาพต่ำมาต่อเติมบ้านให้

แบบนี้ผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของบ้านจะเรียกร้องหรือฟ้องคดีแพ่งให้ผู้รับเหมารับผิดชอบได้หรือไม่ ?  

ถ้าไม่มีสัญญาจะทำอะไรได้บ้าง ? 

เพื่อคลายปัญหาหนักอกหนักใจและตอบข้อสงสัยของทุกคน JusThat จึงรวบรวมข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ถ้าอยากฟ้องต้องพิจารณาเกี่ยวกับอะไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกคนสามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองมาไว้ในบทความนี้แล้ว ถ้าพร้อมแล้วอ่านต่อด้านล่างได้เลย

จ้างต่อเติมบ้านแต่ผู้รับเหมาใช้ของไม่มีคุณภาพจะทำยังไงดี

อยากฟ้องผู้รับเหมาใช้ของไม่มีคุณภาพ ต้องพิจารณาอะไรบ้าง

สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาว่าจะให้ผู้รับเหมารับผิดชอบความเสียที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ต้องดูตามสัญญาที่ตกลงกันและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าใครเป็นคนจัดหาวัสดุในการต่อเติมบ้าน มีการกำหนดคุณภาพมาตรฐานของวัสดุไว้ยังไงบ้าง หากผู้รับเหมาหรือช่างเป็นคนจัดหาวัสดุ โดยที่เจ้าของหรือผู้ว่าจ้างไม่ได้ยุ่งเกี่ยวเลย ก็ต้องดูว่าคุณภาพของวัสดุที่นำมาใช้ต่ำกว่ามาตรฐานที่ตกลงกันไว้หรือไม่

กรณีที่ 1 ตกลงกันให้ใช้วัสดุที่มีคุณภาพดี แต่ผู้รับเหมาใช้วัสดุคุณภาพแย่

หากมีการตกลงกันไว้อย่างชัดเจนว่าต้องใช้วัสดุแบบไหน ยี่ห้ออะไร คุณภาพยังไง ฯลฯ แต่ผู้รับเหมากลับไม่ใช้วัสดุตามที่ตกลงกันไว้ จะถือว่าผู้รับเหมานั้นเป็นฝ่ายผิดสัญญา ซึ่งผู้ว่าจ้างสามารถเรียกร้องให้มีการแก้ไข ปรับปรุงข้อบกพร่องได้ ถ้าบอกให้แก้แล้วแต่ผู้รับเหมาไม่แก้ให้ แบบนี้ก็สามารถฟ้องร้องเรียกร้องค่าเสียหายได้เหมือนกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 595 ที่ระบุไว้ว่า “ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระไซร้ ความรับผิดของผู้รับจ้างในการบกพร่องนั้น ท่านให้บังคับด้วยบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ ลักษณะซื้อขาย”

โดยนำมาตรา 472 มาใช้ ซึ่งระบุไว้ว่า “ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายน้ันชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดีท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด ความที่กล่าวมานี้ย่อมใช้ได้ท้ังที่ผู้ขายรู้อยู่แล้ว หรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่”

กรณีที่ 2 ตกลงกันให้ใช้วัสดุที่มีคุณภาพไม่ดี

ถ้าตกลงกันไว้ว่าให้ผู้รับเหมาใช้วัสดุที่มีคุณภาพต่ำ อาจเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุดหรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งก็เป็นอย่างที่เรารู้กันโดยทั่วไปว่า ของดีและถูกนั้นมีจริง แต่ของไม่ดีและราคาถูกนั้นมีมากกว่า แบบนี้จะเรียกร้องให้ผู้รับเหมารับผิดชอบไม่ได้นะ เพราะการนำวัสดุคุณภาพต่ำมาใช้ในกรณีนี้ เป็นไปตามข้อตกลงของทั้ง 2 ฝ่ายนั่นเอง

กรณีที่ 3 ตกลงกันให้ใช้วัสดุคุณภาพดี แต่ผู้รับเหมาใช้วัสดุคุณภาพแย่และผู้ว่าจ้างไม่ได้ทักท้วง

ถ้าผู้ว่าจ้างเห็นอยู่แล้วว่าผู้รับเหมานำวัสดุอะไร เกรดไหน คุณภาพเป็นยังไงมาใช้ในการก่อสร้าง ต่อเติมบ้าน หรือผู้รับเหมาขอลดสเปคแล้วผู้ว่าจ้างก็ยินยอม ไม่ได้ทักท้วง แต่หลังจากส่งมอบงานแล้วผู้ว่าจ้างกลับเกิดความไม่พอใจขึ้นมาทีหลัง แบบนี้จะเรียกร้องให้ผู้รับเหมามารับผิดชอบทีหลังไม่ได้นะ เพราะตามกฎหมายแล้วเมื่อผู้ว่าจ้างยอมรับความบกพร่องโดยไม่ได้ทักท้วง ท้วงติง บอกให้ผิดชอบใด ๆ ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดอะไรแล้ว

ยกเว้นในกรณีที่ผู้รับเหมาปิดบัง หรือผู้ว่าจ้างไม่รู้ว่ามีอะไรบกพร่องตรงไหนบ้าง แล้วมาเห็นหลังจากนั้นภายใน 5 ปีนับตั้งแต่วันส่งมอบ แบบนี้จะยังเรียกร้องให้ผู้รับเหมารับผิดชอบได้อยู่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 598 ที่ระบุไว้ว่า “ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วทั้งชำรุดบกพร่องมิได้อิดเอื้อนโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยาย ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นเช่นจะไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบ หรือผู้รับ จ้างได้ปิดบังความนั้นเสีย

กรณีที่ 4 ไม่ได้ตกลงคุณภาพมาตราฐานของวัสดุที่ต้องใช้

ในบางครั้งทางผู้ว่าจ้างเองก็ไม่รู้ว่าจะต้องใช้วัสดุแบบไหน คุณภาพยังไงให้เหมาะสมกับงานต่อเติมที่กำลังจ้างอยู่ จึงไม่ได้ตกลงหรือระบุคุณภาพของวัสดุไว้ แต่ต่อให้ไม่เคยมีการตกลงกันเรื่องคุณภาพวัสดุเลยก็ตาม ผู้รับเหมาก็จำเป็นต้องนำวัสดุที่มีคุณภาพปานกลาง มีมาตรฐานมาใช้ในการทำงาน ไม่สามารถนำวัสดุคุณภาพต่ำ ขาดมาตรฐานมาใช้ในการทำงานได้

ซึ่งมีการกำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 195 ว่า “เมื่อทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นได้ระบุไว้แต่เพียงเป็นประเภท และถ้าตามสภาพแห่งนิติกรรมหรือตามเจตนาของคู่กรณี ไม่อาจจะกำหนดได้ว่า ทรัพย์นั้นจะพึงเป็นชนิดอย่างไรไซร้ ท่านว่า ลูกหนี้จะต้องส่งมอบทรัพย์ชนิดปานกลาง”

ผู้รับเหมาใช้ของไม่มีคุณภาพ แม้ไม่มีหนังสือสัญญาก็ฟ้องศาลด้วยตัวเองได้

อยากต่อเติมบ้านนิด ๆ หน่อย ๆ หรือต่อเติมครัวไม่ใหญ่มากจึงว่าจ้างช่างที่รู้จักคุ้นเคยกัน หรือจ้างผู้รับเหมาผ่านคนรู้จัก ครั้นจะทำสัญญาก็รู้สึกเกรงใจ กลัวอีกฝ่ายจะรู้สึกว่าไม่ไว้ใจกันหรือเปล่า ทำไมต้องทำหนังสือสัญญาให้ยุ่งยากด้วย หรือไม่รู้ว่าต้องทำหนังสือสัญญายังไง จึงตกลงกันปากเปล่าและหวังว่าคงจะไม่มีปัญหาอะไรตามมา

สำหรับการจ้างก่อสร้าง จ้างต่อเติมบ้าน แก้ไข ปรับปรุงบ้าน ซ่อมท่อน้ำ เดินสายไฟ ฯลฯ เป็นลักษณะของสัญญาจ้างทำของ ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำสัญญาเป็นหนังสือ ดังนั้นการตกลงกันปากเปล่าก็เป็นสัญญาเหมือนกัน เพียงแต่ไม่มีหนังสือสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ว่ากันง่าย ๆ ก็คือ สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาไม่มีแบบ เป็นสัญญาที่เกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาตกลงกัน

หากเจอผู้รับเหมาทิ้งงาน ก่อสร้างต่อเติมบ้านไม่เสร็จ ใช้ของไม่มีคุณภาพมาก่อสร้างให้ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ตกลงกันอย่างนั้น แม้จะเป็นเพียงการตกลงปากเปล่าก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามกฎหมาย เพียงแต่อาจจะยากในการพิสูจน์ แต่เพื่อน ๆ ก็อย่าเพิ่งถอดใจไป เพราะถึงไม่มีหนังสือสัญญาก็สามารถใช้พยานบุคคล หรือพยานหลักฐานแวดล้อมต่าง ๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงการตกลงกันเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพหรือชนิดของวัสดุมาใช้ในการยืนยันได้

แต่ถึงอย่างไรการมีหนังสือสัญญาเก็บไว้ก็ยังพอช่วยให้ต่างฝ่ายต่างเกรงใจกันมากขึ้น เพราะใจคนนั้นยากแท้หยั่งถึง เมื่อไม่มีลายลักษณ์อักษรกำกับไว้ก็อาจทำให้อีกฝ่ายบิดพลิ้วได้ง่าย ๆ หากมีการผิดสัญญากันก็ยังสามารถใช้หนังสือสัญญาเป็นหลักฐานได้ ทั้งนี้ก่อนที่จะเซ็นสัญญาอะไร เพื่อน ๆ อย่าลืมตรวจสอบสัญญาทุกข้อก่อนเซ็นด้วยนะ 

รู้หรือไม่?! ยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรงได้ จะทำให้เรื่องถึงชั้นศาลได้เร็วขึ้น
JusThat บริการส่งฟ้องด้วยตัวเอง ค่าบริการปรึกษาเริ่มต้น 1,500 บาท

  1. แอดไลน์ @justhatapp
  2. เริ่มต้นทำแบบประเมิน
  3. หากต้องการ ส่งฟ้องได้ทันที
Line-Chat-Portrait

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท ตั้งแต่คลอดออกมาและอยู่รอดเป็นทารก คนคนนั้นจะมีสภาพเป็นบุคคล เมื่อมีสภาพบุคคลแล้วจะมีกองทรัพย์

Read More »

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าคุณได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นพยานศาล JusThat ได้นำข้อมูล หลักการปฏิบัติตัวในฐานะพยานศ

Read More »

รับช่วงสิทธิ คืออะไร

รับช่วงสิทธิ คืออะไร รับช่วงสิทธิ คืออะไร มีความสัมพันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างไร JusThat จะพาไปหาคำตอบและทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้เลย

Read More »