1

JusThat

การบังคับคดี เมื่อชนะคดีแต่ลูกหนี้ไม่ยอมจ่าย

เป็นเรื่องน่าปวดหัวของเจ้าหนี้ที่ติดตามทวงหนี้ไม่ได้จนต้องฟ้องศาล แต่ลูกหนี้บางคนก็ยังไม่ยอมจ่ายแม้ศาลจะพิพากษาแล้ว ทำให้เจ้าหนี้ต้องดำเนินการบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ อายัดเงิน ไม่อย่างนั้นก็ไม่ได้รับชำระหนี้เสียที 

แต่การบังคับคดีก็มีขั้นตอนและกฎหมายยังมีการคุ้มครองลูกหนี้อยู่ ไม่ใช่ว่าชนะคดีแล้วจะเดินเข้าไปหยิบสิ่งของ เงินทองของลูกหนี้มาได้เลยนะ 

จะทำอย่างไรเมื่อชนะคดีแล้วลูกหนี้ไม่ยอมจ่าย

เริ่มบังคับคดีได้ภายใน 10 ปี หลังมีคำพิพากษา

ถ้าลูกหนี้ไม่จ่ายภายในเวลาที่ศาลกำหนด เจ้าหนี้ต้องยื่นขอบังคับคดีภายใน 10 ปีนับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะบังคับคดีได้แค่ 10 ปีนะ เพราะ 10 ปีนี้เป็นแค่ระยะเวลาที่ต้องมีการตั้งเรื่องบังคับคดี และได้แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วว่าเราต้องการจะบังคับคดีกับทรัพย์สินใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อมีการเริ่มแล้ว การบังคับคดีจะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ครบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274

เช่น มีการพิพากษาให้นาย A ชนะคดี เมื่อ 25 มกราคม พ.ศ.2565 ต่อมานาย A ยื่นเรื่องขอบังคับคดีให้มีการยึด อายัดทรัพย์ของนาย B ที่เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา วันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2565 แต่นาย B ไม่มีอะไรให้ยึดหรืออายัดได้เลยและไม่ยอมจ่ายหนี้ให้ด้วย ผ่านไป 15 ปี นาย B เกิดประสบความสำเร็จมีทรัพย์สินให้ยึดได้แล้ว เจ้าหน้าที่บังคับคดีก็สามารถเข้าไปยึด อายัดได้ เพราะนาย B ยังจ่ายหนี้นาย A ไม่ครบนั่นเอง 

รอนานแค่ไหนจึงจะยื่นเรื่องบังคับคดีได้

การบังคับคดีเป็นขั้นตอนหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้จ่ายหนี้แล้ว แต่ลูกหนี้กลับไม่ยอมจ่ายหนี้ให้เจ้าหนี้ตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด แปลว่าเมื่อพ้นระยะเวลาที่ศาลกำหนดแล้วลูกหนี้ไม่จ่าย เจ้าหนี้ก็สามารถยื่นเรื่องขอบังคับคดีได้ทันที อย่างเช่น คดีมโนสาเร่ ที่เป็นคดีเล็กค่าเสียหายไม่เกิน 300,000 บาท ศาลจะให้เวลาลูกหนี้ชำระหนี้ไม่เกิน 15 วันเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 273 และศาลอาจออกหมายเรียกลูกหนี้ตามคำพิพากษามาสอบถามก่อนจึงจะออกหมายบังคับคดีให้ก็ได้

เช่น นาย C เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา นาย F เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ศาลสั่งให้นาย F จ่ายหนี้ให้นาย C จำนวน 200,000 บาท ภายใน 15 วัน แต่ครบกำหนด 15 วันแล้วนาย F ไม่ยอมจ่าย นาย C ก็สามารถยื่นเรื่องขอหมายบังคับคดีได้เลย แต่หากนาย F ยื่นอุทธรณ์เพื่อสู้คดีต่อ นาย F ก็สามารถร้องขอต่อศาลอุทธรณ์ให้มีการทุเลาการบังคับคดี(งดการบังคับคดี) เอาไว้ก่อนได้ 

ขั้นตอนการบังคับคดี

หลังจากที่เรายื่นเรื่องขอหมายบังคับคดีจากศาลแล้ว จะมีการออกคำสั่งศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีขึ้นมาดำเนินการ จากนั้นเราจะต้องขอตั้งสำนวนบังคับคดี แถลงรายละเอียดเกี่ยวกับลูกหนี้ วางค่าใช้จ่าย และส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง จากนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีจะพิจารณาคำขอและดำเนินการยึดทรัพย์ โดยมีการแจ้งยึดไปที่ลูกหนี้ นายทะเบียนและผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินนั้น ๆ เมื่อยึดมาได้แล้ว เจ้าพนักงานจะรายงานผลต่อศาลและนำทรัพย์ที่ยึดมาเข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาดต่อไป

ส่วนการขออายัดเงิน เมื่อมีการตรวจหมายบังคับคดี วางเงินค่าใช้จ่ายและดำเนินการอายัด จะมีการส่งหนังสือแจ้งอายัดไปที่นายจ้างเพื่อให้มีการส่งเงินให้กับกรมบังคับคดีโดยตรง 

การบังคับคดีจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่

การบังคับคดีเป็นการดำเนินการเพื่อให้ได้รับการชำระหนี้ตามกฎหมาย ดังนั้น

  1. เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ครบเมื่อไหร่การบังคับคดีก็จบลงเมื่อนั้น
  2. แต่หากเราลืม หรือไม่สนใจที่จะเริ่มต้นการบังคับคดีภายใน 10 ปีนับแต่มีคำพิพากษา สิทธิในการบังคับคดีของเราก็จะหมดไปเลยนะ
  3. ในกรณีที่ลูกหนี้ยื่นอุทธรณ์ ฎีกาเพื่อสู้คดีต่อ และปรากฎว่าลูกหนี้ไม่ต้องจ่ายหนี้ แบบนี้ก็จะไม่สามารถบังคับคดีต่อไปได้เพราะไม่มีหนี้ที่ต้องจ่ายให้กัน
  4. หรือในกรณีที่ลูกหนี้ยื่นฟ้องเรื่องอื่นในศาลเดียวกัน และลูกหนี้สามารถพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าหากลูกหนี้ชนะคดี จะสามารถนำหนี้มาหักลบกันได้ ศาลก็อาจอนุญาตให้งดการบังคับคดีไว้ก่อน แล้วสู้คดีกันต่อไปว่าใครจะชนะ แต่หากท้ายที่สุดแล้วเจ้าหนี้ชนะการบังคับคดีก็จะดำเนินต่อไปจนกว่าจะได้รับชำระหนี้จนครบนั่นเอง

บังคับคดี ยึด อายัด อะไรได้บ้าง

สิทธิขอบังคับคดีเป็นของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะยึด อายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ทุกอย่าง เพราะอย่างน้อยก็ต้องเหลือสิ่งของ หนทางทำมาหากินให้ลูกหนี้ใช้ชีวิตต่อไปได้ด้วย การยึด อายัดทรัพย์สินของลูกหนี้จึงต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

  1. ของมีค่า เครื่องประดับ เช่น เพชร สร้อยทอง ของสะสมต่าง ๆ 
  2. บ้าน ที่ดิน รถส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับการทำมาหากิน
  3. ทรัพย์สินที่เป็นการลงทุน เช่น เงินฝาก หุ้น กองทุน ตราสารหนี้ เงินปันผล
  4. สินสมรสหรือทรัพย์สินของคู่สมรส ในกรณีที่เป็นลูกหนี้ร่วมกัน
  5. ข้าวของ เครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่ราคารวมกันเกิน 20,000 บาท (ตามประเภท)
  6. สัตว์ สิ่งของ เครื่องมือที่ใช้ประกอบอาชีพที่ราคารวมกันเกิน 100,000 บาท 
  7. เงินที่มีคนให้ใช้เลี้ยงชีพที่เกินเดือนละ 20,000 บาท
  8. เงินเดือน ค่าจ้าง บํานาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ของลูกหนี้ที่เป็นลูกจ้างเอกชน รัฐวิสาหกิจที่เกินเดือนละ 20,000 บาท 
  9. บําเหน็จหรือค่าชดเชยของลูกหนี้ที่เป็นลูกจ้างเอกชน รัฐวิสาหกิจ ที่รวมกันแล้วเกิน 300,000 บาท

ซึ่งราคาของทรัพย์สินต่าง ๆ จะต้องมีการประเมินราคาตามสภาพ ไม่ใช่ราคาที่มีการซื้อขายนะ เช่น จะยึดคอมพิวเตอร์ที่ลูกหนี้ซื้อมา 200,000 บาท แต่ดูตามสภาพแล้วเจ้าหน้าที่อาจประเมินให้ 150,000 บาทก็ได้

แต่หากมีการยึด อายัดทรัพย์สินของลูกหนี้มากกว่ายอดหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ก็มีสิทธิฟ้องเจ้าหนี้และเจ้าพนักงานบังคับคดีให้รับผิดมูลละเมิดต่อศาลยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 385 วรรค 2 ได้ด้วยนะ

รู้หรือไม่?! ยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรงได้ จะทำให้เรื่องถึงชั้นศาลได้เร็วขึ้น
JusThat ค่าบริการปรึกษาเริ่มต้น 1,500 บาท บริการส่งฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา

  1. แอดไลน์ @justhatapp
  2. เริ่มต้นทำแบบประเมิน
  3. หากต้องการ ส่งฟ้องได้ทันที
Line-Chat-Portrait

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท

รู้ไว้ใช่ว่า เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ไม่ตกทอดสู่ทายาท ตั้งแต่คลอดออกมาและอยู่รอดเป็นทารก คนคนนั้นจะมีสภาพเป็นบุคคล เมื่อมีสภาพบุคคลแล้วจะมีกองทรัพย์

Read More »

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล

พยานหมาย ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายให้ไปเป็นพยานศาล อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าคุณได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นพยานศาล JusThat ได้นำข้อมูล หลักการปฏิบัติตัวในฐานะพยานศ

Read More »

รับช่วงสิทธิ คืออะไร

รับช่วงสิทธิ คืออะไร รับช่วงสิทธิ คืออะไร มีความสัมพันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างไร JusThat จะพาไปหาคำตอบและทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้เลย

Read More »