หลายคนคงเคยถูกนายจ้างเอาเปรียบกันมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทำโอฟรีนายจ้างไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้ ถูกสั่งให้หยุดงานแล้วไม่ได้เงิน ลาป่วยไม่มีใบรับรองแพทย์แล้วโดนหักเงิน ทำงานใกล้ผ่านโปรแล้วแต่ถูกเลิกจ้างกะทันหันแถมไม่ได้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ทำงานอยู่ดีดีก็ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ทวงค่าชดเชยไม่ได้เพราะนายจ้างอ้างว่าเป็นพนักงานทดลองงาน เป็นลูกจ้างรายวันได้ทำงานวันไหนก็ได้เงินแค่วันนั้น เป็นต้น
ถึงแม้จะรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองพบเจอนั้นไม่ใช่เรื่องถูกต้อง แต่บางคนก็ต้องก้มหน้ายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะกลัวว่าจะโดนไล่ออกหรือไม่มีงานทำ ถ้าตกงานไปแล้วจะเอาเงินที่ไหนใช้ ทำให้ไม่กล้าเรียกร้องสิทธิของตัวเอง
แต่รู้หรือไม่ว่า หากถูกนายจ้างไล่ออกกะทันหันเพราะเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายของตัวเอง เช่น ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าโอที ยื่นข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ไปฟ้องศาลแรงงานให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันลาป่วย เป็นต้น นายจ้างต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า หรืออาจต้องจ่ายค่าชดเชย จ่ายดอกเบี้ยผิดนัด 15% ต่อปี และอาจต้องจ่ายเงินเพิ่ม 15% ทุก ๆ 7 วัน ในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่จ่ายเงินด้วยนะ และยังถือว่านายจ้างฝ่าฝืน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 อีกด้วย
รู้แบบนี้แล้วจะรอช้าอยู่ใย ต้องรีบอ่านข้อมูลที่ JusThat รวบรวมไว้ให้เพื่อเป็นแนวทางในการร้องเรียนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานด้านล่างได้เลย
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน มีหน้าที่ดูแลด้านสวัสดิการแรงงาน การคุ้มครองแรงงานและแรงงานสัมพันธ์ โดยมีเป้าหมายการทำงาน ดังนี้
และนอกจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแล้ว ยังมีหน่วยงานอื่นอีก 2 กรม 1 สำนักงาน และ 1 สถาบันที่สังกัดกระทรวงแรงงานเช่นกัน
โดยเราสามารถร้องเรียนเพื่อเรียกเงินและสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมาย ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ ดังนี้
เรียกร้องเงินหรือสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
เรียกร้องเงินหรือสิทธิตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518
เรียกร้องเงินหรือสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีหน้าที่ดูแลบุคคล 2 กลุ่ม คือ “ลูกจ้าง” และ “ผู้รับงานไปทำที่บ้าน”
โดยที่ลูกจ้างนั้นจะอยู่ภายใต้การคุ้มครองของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และกฎหมายอื่นเกี่ยวกับแรงงาน ส่วนผู้รับงานไปทำที่บ้านจะอยู่ภายใต้การคุ้มครองของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553
ดังนั้น คนที่จะร้องเรียนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ ต้องเป็น
ทายาทเป็นผู้ร้องเรียนในกรณีที่ลูกจ้างหรือผู้งานไปทำที่บ้านถึงแก่ความตาย
ลูกจ้าง คือ ผู้ที่ตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร
และลักษณะที่สำคัญของการจ้างแรงงานคือ นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาลูกจ้าง เช่น มีการกำหนดเวลาทำงาน กำหนดวันทำงาน ในเวลางานนายจ้างจะมีสิทธิในการสั่งงานได้ เป็นต้น
หมายความว่า ถ้าคนจ้างมีอำนาจบังคับบัญชา มีอำนาจสั่งให้ทำหรือไม่ให้ทำ ไม่ว่าจะเรียกว่าลูกจ้างรายชั่วโมง ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างรายเดือน ลูกจ้างที่อยู่ระหว่างทดลองงาน หรือลูกจ้างที่รับค่าจ้างตามผลงาน หรือนายจ้างพยายามเลี่ยงบาลีใช้คำว่าฟรีแลนซ์ พนักงานชั่วคราว พนักงานพาร์ทไทม์ พนักงานทดลองงาน ผู้รับจ้าง ผู้ว่าจ้างก็ตาม ทุกคนคือ “ลูกจ้าง” เหมือนกันและต้องได้รับสิทธิต่าง ๆ ตามที่กฎหมายเกี่ยวกับแรงงานกำหนดไว้
เช่น A เป็นลูกจ้างของ B เพิ่งเริ่มงานได้ 20 วันแล้วลาป่วย 2 วันเพราะปวดท้องไปทำงานไม่ได้ พอ A กลับไปทำงานและถึงวันจ่ายเงิน B ก็ไม่ยอมจ่ายเงิน 2 วันนั้นให้เพราะ A ไม่มีใบรับรองแพทย์ กรณีนี้ A สามารถร้องเรียนเพื่อเรียกค่าจ้างทั้ง 2 วันได้
หรือ N เป็นลูกจ้างรายวันของ O วันทำงานปกติจันทร์ – ศุกร์ แล้ว O สั่งให้ N หยุดงานวันอังคาร – พฤหัสบดี และไม่จ่ายค่าจ้างให้ N กรณีนี้ N ก็สามารถร้องเรียนเพิ่อเรียกร้องค่าจ้าง 3 วันนี้ได้
ผู้รับงานไปทำที่บ้าน คือ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ตกลงกับผู้จ้างงานเพื่อรับทํางานอันเป็นงานที่รับไปทำที่บาน
งานที่รับกลับไปทำที่บ้าน คือ งานที่ผู้จ้างงานในกิจการอุตสาหกรรมมอบให้ผู้รับงานไปทําที่บ้าน หรือสถานที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่สถานประกอบการของผู้จ้าง เพื่อผลิต หรือประกอบ บรรจุ ซ่อม ปรับปรุง และงานนั้นต้องเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิต หรือธุรกิจในความ รับผิดชอบของผู้จ้างงาน เช่น ทำวิกผม ตัดเย็บเสื้อผ้า ทำดอกไม้ประดิษฐ์ แพ็คกิ๊บเป็นโหล ทำพวงกุญแจ ทำกระเป๋า เป็นต้น
เช่น B เปิดกิจการขายเสื้อปักมือ แต่ B ไม่อยากเพิ่มขนาดโรงงานและไม่อยากรับพนักงานในโรงงานเพิ่ม จึงหาคนรับเสื้อไปปักมือที่บ้าน C ที่รับเสื้อไปปักมือก็จะเป็นผู้รับงานไปทำที่บ้านโดยมี B เป็นผู้จ้าง
แต่ถ้า C มีบริการรับทำเสื้อปักมือแล้ว D มาจ้างให้ปักเสื้อให้ 3 ตัวจะเอาไปเป็นของขวัญ และ E ก็มาจ้างให้ C ปักเสื้อ 6 ตัวจะเอาไว้ใส่เอง แบบนี้ C จะเป็นผู้รับจ้างทำของ รับจ้างผลิต ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะจ้างทำของ
ร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553
ร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
ปรึกษาเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับสิทธิต่าง ๆ ที่ต้องได้รับ
หลังจากที่เกิดปัญหาขึ้น ได้เงินไม่ครบ อีกฝ่ายจ่ายเงินไม่ตรงตามนัดที่ตกลงกันไว้ สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกคือการบอกกล่าวทวงถาม และควรทวงถามให้มีหลักฐานเก็บไว้ด้วยนะ เช่น ส่งแชททวงถาม ส่งอีเมลทวงถาม หรือยื่นโนติสเป็นหนังสือเพื่อทวงถามก็ได้
แต่ถ้าใครไม่ได้ทวงถามก็ไม่ต้องตกใจไป ยังสามารถใช้สิทธิเรียกร้องเงินได้เหมือนเดิม เพราะหนี้ที่กำหนดระยะเวลาไว้ไม่จำเป็นต้องทวงถาม ถ้าพ้นกำหนดแล้วอีกฝ่ายไม่จ่ายจะถือว่าผิดนัดทันที และก่อนที่จะไปร้องเรียนต้องร้อยเรียง ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยนะ เพราะต้องกรอกในแบบฟอร์มและต้องตอบในระหว่างที่ให้การกับเจ้าหน้าที่ด้วย
แบบฟอร์มร้องเรียน
แบบ คร.7 ใช้สำหรับยื่นคําร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
แบบ สกล.1 ใช้สำหรับยื่นคำขอรับเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
แบบ ครส. 1 ใช้สำหรับยื่นคํากล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
แบบ รน. 1 ใช้สำหรับยื่นคําร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทําที่บ้าน พ.ศ.2553
เอกสารสำคัญที่จำเป็นต้องใช้
พยานหลักฐานที่ต้องใช้
และพยานหลักฐานที่ใช้จะต้องมีการเก็บรักษาที่ถูกต้องและอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด ไม่มีการแก้ไขดัดแปลงใด ๆ เช่น เอาคลิปวิดีโอไปตัดต่อส่วนที่ไม่ต้องการออกแบบนี้ไม่ได้นะ
หากร้องเรียนออนไลน์ เพื่อน ๆ สามารถกรอกข้อมูลในระบบออนไลน์ได้เลยนะ และควรเตรียมเอกสารและหลักฐานเป็นไฟล์ PDF. หรือไฟล์อื่น ๆ ที่สามารถเปิดใช้เอกสาร หลักฐานได้ง่าย
ยื่นคำร้องเรียกเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553
จะต้องยื่นคำร้องภายใน 2 ปี สำหรับค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา เงินอื่น ๆ ที่ได้จากการทำงาน หรือยื่นคำร้องภายใน 10 ปี สำหรับค่าบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย
และต้องเลือกใช้สิทธิเรียกร้องเงินในช่องทางใดช่องทางหนึ่งเท่านั้น หากมีการนำเรื่องไปฟ้องศาลด้วยตัวเองแล้ว และคดีอยู่ในระหว่างการพิจาณาของศาลแรงงาน ก็จะใช้สิทธิร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานไม่ได้
หรือในทางกลับกันหากร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแล้ว จะใช้สิทธิฟ้องศาลแรงงานไม่ได้เช่นกันจนกว่าจะมีคำสั่งจากพนักงานตรวจแรงงานก่อน จึงจะสามารถนำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้
ยื่นคำขอรับเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง
ในกรณีที่นายจ้างไม่ยอมปฎิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน เช่น สั่งให้จ่ายเงินค่าจ้างแล้วนายจ้างไม่จ่ายและไม่มีฝ่ายไหนนำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงาน ต้องยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุด
ยื่นคำกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
ในกรณีที่ลูกจ้างถูก พักงาน ย้ายตำแหน่ง กลั่นแกล้ง เลิกจ้าง เพราะยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรืออื่นใดก็แล้วแต่ ที่เข้าหลักเกณฑ์ของ มาตรา 121 – 123 ลูกจ้างต้องยื่นคำกล่าวหาต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ภายใน 60 วันนับตั้งแต่มีการฝ่าฝืน เพื่อให้มีการตัดสินจากคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก่อน ลูกจ้างจึงจะมีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงาน
หรือนายจ้างฝ่าฝืน มาตรา 31 เลิกจ้างลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ในระหว่างการเรียกร้องหรือเจรจาต่อรอง ลูกจ้างจะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานได้เลย โดยไม่ต้องร้องเรียนผ่านคณะกรรมการแรงงงานสัมพันธ์
แต่ถ้าถูกเลิกจ้างแล้วไปฟ้องศาลด้วยตัวเอง เพื่อเรียกค่าเสียหายจากการเลิกไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ก็จะยื่นคำกล่าวหาต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เพื่อเรียกค่าเสียหายจากการกระทำไม่เป็นธรรม หรือฟ้องเรียกค่าเสียหายตามมาตรา 31 ซ้ำอีกไม่ได้ จะต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งเท่านั้นนะ
ร้องเรียนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานออนไลน์
การลงทะเบียน
การเข้าใช้ระบบ
เดินทางไปร้องเรียนด้วยตัวเอง
เมื่อไปถึงให้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่ามาร้องเรียนเรื่องอะไร และต้องไปในวันและเวลาราชการเท่านั้นนะ เจ้าหน้าที่จะให้กรอกแบบฟอร์ม แต่ถ้าเราเตรียมและกรอกข้อมูลไปเรียบร้อยแล้วก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้เลย เมื่อเจ้าหน้าที่ซักถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ต้องเล่าทุกอย่างตามความเป็นจริงนะ และก่อนลงชื่อรับรองเอกสารใด ๆ เราต้องตรวจสอบความถูกต้องทุกครั้ง หากมีอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือตรงตามความเป็นจริง เราต้องแจ้งให้เจ้าหน้าทราบ หรือทำการแก้ไขให้ถูกต้องก่อนแล้วค่อยลงลายมือชื่อ และอย่าลืมให้เอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปพิจารณาด้วยนะ
เรียกร้องเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้รับคำร้องแล้ว จะดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงจากทั้ง 2 ฝ่าย และมีคำสั่งภายใน 60 วันนับแต่วันที่รับคำร้อง แต่ถ้าดำเนินการไม่ทันพนักงานตรวจจะสามารถขอขยายระยะเวลาออกไปได้อีกไม่เกิน 30 วัน รวมเวลาดำเนินการทั้งหมดจนออกคำสั่งต้องไม่เกิน 90 วัน
หลังจากสอบสวนแล้วผู้ยื่นคำร้องมีสิทธิได้รับเงินจริง พนักงานตรวจแรงงานจะสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินให้ภายใน 30 วัน วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง และแจ้งให้ผู้ยื่นคำร้องทราบ โดยให้จ่ายเงินที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือตามสถานที่หรือวิธีที่ตกลงกัน หรือในทางกลับกันหากพนักงานตรวจแรงงานเห็นว่า ผู้ยื่นคำร้องไม่มีสิทธิได้รับเงิน ก็จะมีคําสั่งแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคําร้องและนายจ้างทราบเช่นเดียวกัน
ถ้านายจ้างยอมจ่ายให้แต่ผู้มีสิทธิไม่ไปรับเงินภายใน 15 วัน พนักงานตรวจแรงงานจะส่งเงินไปเก็บรักษาในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างโดยฝากไว้กับธนาคาร และดอกเบี้ยจากการฝากเงินจะเป็นของลูกจ้างหรือทายาทด้วย
กรณีที่ได้ทราบคำสั่งแล้ว ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน จะต้องนำคดีไปฟ้องต่อศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง และเมื่อมีการนำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงาน สิทธิรับเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างก็จะหมดไป
แต่หากไม่มีการนําคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในกําหนด คําสั่งพนักงานตรวจแรงงานจะเป็นที่สุด ตามมาตรา 125 วรรค 2 ลูกจ้างหรือทายาทก็สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้ โดยกองทุนจะนำเงินมาจ่ายให้ก่อนแล้วไปเรียกเงิน ยึดอายัดทรัพย์จากนายจ้างอีกที
เรียกร้องเงินหรือสิทธิตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518
เมื่อยื่นคำกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 121 – 123 ไปแล้ว เรื่องจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งตามหลักจะต้องมีคำสั่งภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำกล่าวหา แต่ก็ยังมีการขยายระยะเวลาออกไปได้อีก ตามมาตรา 125
หลังจากวินัยฉัยแล้วพบว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินค่าเสียหาย หรือมีการสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าไปทำงาน นายจ้างจะต้องปฎิบัติตามคำสั่งภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง ถ้านายจ้างไม่ยอมทำตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ นายจ้างก็จะถูกดำเนินคดีอาญาด้วย แต่ลูกจ้างหรือนายจ้างถ้าไม่พอใจคำสั่ง ก็มีสิทธิฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวต่อศาลแรงงานได้ภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
เรียกร้องเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553
หลังจากพนักงานตรวจแรงงานได้รับคำร้องแล้ว จะดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงจากทั้ง 2 ฝ่าย และมีคำสั่งภายใน 30 วันนับแต่วันที่รับคำร้อง แต่ถ้าดำเนินการไม่ทันพนักงานตรวจแรงงาน สามารถขอขยายระยะเวลาออกไปได้อีกไม่เกิน 30 วัน รวมเวลาดำเนินการทั้งหมดจนออกคำสั่งต้องไม่เกิน 60 วัน
เมื่อสอบสวนแล้วพนักงานตรวจแรงงานจะสั่งให้ผู้จ้างจ่ายเงินให้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง และแจ้งให้ผู้ยื่นคำร้องทราบ โดยให้จ่ายเงินตามสถานที่หรือวิธีที่ตกลงกัน หากพนักงานตรวจแรงงานเห็นว่า ผู้ยื่นคำร้องไม่มีสิทธิได้รับเงิน ก็จะมีคําสั่งแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคําร้องและผู้จ้างงานทราบเช่นเดียวกัน
แต่ถ้าไม่เห็นด้วยกับคําสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน จะต้องนําคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบคําสั่ง หากไม่มีการนําคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในกําหนด คําสั่งพนักงานตรวจแรงงานจะเป็นที่สุด ตามมาตรา 35
การร้องเรียนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ลูกจ้าง และผู้รับงานไปทำที่บ้าน สามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ถ้าหาก
ก็สามารถฟ้องศาลด้วยตัวเองได้ โดยฟ้องเป็นคดีแพ่งที่ศาลแรงงาน แต่ต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดด้วยนะ โดยค่าจ้าง ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด หรือเงินที่ต้องได้จากการทำงานจะมีอายุความ 2 ปี ส่วนค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วง และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม มีอายุความ 10 ปี
แต่ถ้าต้องการฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน จะต้องฟ้องภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง ส่วนการฟ้องเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จะต้องดำเนินการภายใน 10 ปี แต่ถ้าทิ้งระยะเวลาไว้นาน ๆ ก็อาจจะถูกยกฟ้องเพราะไม่ติดใจเพิกถอนก็ได้นะ
รู้หรือไม่?! คดีแพ่งสามารถฟ้องศาลด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องจ้างทนาย!
JusThat บริการฟ้องด้วยตัวเอง ค่าบริการปรึกษาเริ่มต้น 1,500 บาท ประหยัดค่าจ้างทนายความได้หลายหมื่นบาท
Bangkok, Thailand
Line @justhatapp
Bangkok, Thailand
Line @justhatapp