1

JusThat

ลักทรัพย์
คืออะไร

ในปัจจุบันเรามักเห็นมีการโพสต์เตือนภัยข้อหาลักทรัพย์ กล่าวหาคนอื่นว่าเป็นโจร หรือขโมยอยู่แทบทุกวัน โดยที่เราก็ไม่รู้ว่าคนที่ถูกกล่าวหาทำผิดจริง ๆ หรือเปล่า และหัวข้อที่คนมักหยิบยกมาพูดคุยกันแทบทุกครั้งก็คือ สิ่งที่เห็นคือการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์กันแน่

การลักทรัพย์ คือ การไปแย่งเอาของที่มีรูปร่าง มีราคามาจากการครอบครองของคนอื่นในลักษณะที่เอาไปแล้วเอาไปเลย หรือเรียกอีกอย่างว่าตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของ โดยที่…

  • แย่งเอา
  • ของคนอื่น หรือของที่คนอื่นเป็นเจ้าของร่วมด้วย
  • โดยเจตนา
  • เอามาโดยทุจริต

 

เช่น ขโมยของในร้านสะดวกซื้อ ขโมยเงินนายจ้าง ขโมยกระถางต้นบอนสีจากร้านขายต้นไม้ เป็นต้น แต่ถ้าเรามีเหตุฉุกเฉินต้องไปโรงพยาบาลด่วน โทรศัพท์ก็แบตหมด มองเห็นโทรศัพท์คนอื่นชาร์จอยู่แล้วไปหยิบมาโทรเลย ใช้เสร็จก็เอาไปคืนเจ้าของ แบบนี้ไม่ใช่การลักทรัพย์นะ เพราะไม่ใช่การตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของ

 

ลักทรัพย์
มีอะไรบ้าง แบ่งยังไง

ความผิดฐานลักทรัพย์มีกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญาทั้งหมด 5 มาตรา  ตั้งแต่มาตรา 334 – 336 ทวิ

มาตรา 334 เป็นการทรัพย์ธรรมดา คือขโมยในเวลาปกติทั่วไป ทำในสถานการณ์ปกติ

มาตรา 335 เป็นลักทรัพย์โดยมีเหตุฉกรรจ์ เป็นการทำในเวลาที่คนระวังตัวน้อย หรือในสถานการณ์ที่ไม่ปกติมีทั้งหมด 12 ข้อ

  1. ลักทรัพย์เวลากลางคืน ต้องขโมยเสร็จ หรือเริ่มขโมยในระหว่างที่พระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น
  2. ลักทรัพย์ในบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุ ไฟไหม้ น้ำท่วม เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ เพราะถือเป็นการซ้ำเติมคนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยการฉวยโอกาสระหว่างเกิดความวุ่นวาย เสียหายและคนไม่ได้ระวังตัว
  3. เข้าไปลักทรัพย์โดยทำลายหรือผ่านสิ่งกีดกั้น เช่น รั้ว ประตูบ้าน เหล็กดัด  โซ่ล็อกรถก็ถือเป็นสิ่งกีดกั้น ถ้าคนขโมยตัดโซ่แล้วเอารถไปก็จะมีความผิดในข้อนี้
  4. เข้าไปลักทรัพย์ผ่านช่องที่ไม่ใช่ช่องที่ทำไว้ให้คนเข้า หรือมีคนเป็นใจเปิดไว้ให้ เช่น เข้าทางหน้าต่าง ทางประตูสุนัข ผ่านช่องลม ปีนช่องฝ้า ปีนรั้วเข้าไป หรือมีคนแอบเปิดบ้านไว้ให้ เป็นต้น
  5. ปลอมตัวเป็นคนอื่น หรือแต่งตัวให้คนอื่นจำไม่ได้เพื่อไปขโมย
  6. โกหก ล่อลวงว่าเป็นตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อไปขโมย
  7. พกอาวุธและมี 2 คนขึ้นไป และมีเจตนาที่จะใช้อาวุธที่ว่า เช่น มีด คัตเตอร์ ถุงดำ ก้อนหิน เชือก รถเอาไว้ขับชน
  8. เข้าไปหรือซ่อนตัวเพื่อขโมยในที่อยู่อาศัย สถานที่ราชการ หรือสถานที่สาธารณะที่เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ว่าจะเป็นบ้าน กระท่อม เรือ แพ หอพัก โรงแรม ฯ  แต่ถ้าหยิบเอานอกรั้วจะเป็นลักทรัพย์ธรรมดานะ เพราะข้อนี้โจรต้องเข้าไปทั้งตัวเลย
  9. ขโมยในบริเวณวัด โบสถ์ มัสยิด สถานที่ทางศาสนา สถานีรถไฟ ท่ารถ ท่าเรือ สนามบิน ที่จอดรถสาธารณะ บนรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถสองแถว รถไฟ รถไฟฟ้าMRT เป็นต้น
  10. ลักทรัพย์ที่เอาไว้ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ ของที่เอาไว้ให้คนในสังคมใช้ร่วมกัน เช่น ไฟบนถนน ตู้โทรศัพท์ ก๊อกน้ำสาธารณะ สายไฟ ฝาท่อ ไฟตามป้ายรถเมล์ เป็นต้น
  11. ลักทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ หรืออยู่ในครอบครองของนายจ้างตัวเอง กรณีนี้คนที่ขโมยต้องเป็นลูกจ้างเท่านั้น ถ้าไม่ใช่ลูกจ้างจะลงโทษตามข้อนี้ไม่ได้นะ
  12. ลักทรัพย์ของคนที่มีอาชีพเป็นเกษตรกร เช่น เลี้ยงปลา ทำนา ทำไร่ เลี้ยงวัว เป็นต้น แต่ไม่รวมอาชีพประมงและป่าไม้  ไม่ว่าของนั้นจะเป็นเครื่องมือทำมาหากิน สัตว์ หรือพืชผัก ที่เกี่ยวกับการทำเกษตร ถ้าขโมยไปจะมีความผิดตามข้อนี้

มาตรา 335 ทวิ มีการกำหนดไว้อีกว่า ถ้าลักทรัพย์ที่เป็นพระพุทธรูป วัตถุทางศาสนา หรือส่วนใดส่วนหนึ่ง โดยของนั้นเป็นที่ประชาชนให้ความเคารพหรือบูชา หรือของที่เก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติจะมีความผิดฐานลักทรัพย์

มาตรา 336 เป็นการลักทรัพย์โดยการฉกฉวยเอาไปต่อหน้า เรียกว่า “วิ่งราวทรัพย์”

และสุดท้ายมาตรา 336 ทวิ เป็นการลักทรัพย์โดยแต่งเครื่องแบบ หรือชุดที่ทำให้คนเข้าใจว่าเป็นตำรวจ ทหาร หรือมีปืน ระเบิด หรือมีรถไว้ใช้ขนของ ใช้หลบหนี แบบนี้จะมีโทษหนักมากขึ้นไปอีกนะ

ลักทรัพย์
ต้องดูให้แน่ใจเพราะอาจเป็นความผิดฐานอื่น

ที่เราต้องดูให้แน่ใจเพราะความผิดลักทรัพย์เป็นองค์ประกอบของความผิดอื่น ๆ เลยทำให้จากผิดลักทรัพย์กลายเป็นเป็นความผิดฐานอื่น ๆ ได้ …

  • วิ่งราวทรัพย์ เป็นการลักทรัพย์โดยที่หยิบ ฉกฉวยเอาไปต่อหน้าต่อตา พูดง่าย ๆ ว่าเห็นอยู่ตำตาเลยว่าถูกเอาไปแต่ไม่มีการทำร้ายหรือข่มขู่ แค่มาหยิบเอาไปเฉย ๆ  เช่น โจรมาหยิบโทรศัพท์ไปต่อหน้าต่อตา 
  • ชิงทรัพย์ เป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังข่มขู่ ทำร้ายร่างกายร่วมด้วย เช่น ถูกดักตีหัวแล้วขโมยเงินไปตอนเรากำลังเดินกลับบ้าน หรือขู่ว่าจะทำร้ายถ้าไม่ยอมให้ทรัพย์สินเราก็เลยต้องยอมให้ไปเลย
  • ปล้นทรัพย์ ก็คือชิงทรัพย์เป็นแก๊งตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป เวลาที่เราได้ข่าวว่าโจรปล้นร้านทอง โจรปล้นธนาคาร เรามักจะเห็นว่าโจรพกอาวุธไปด้วยและทำกันเป็นกลุ่มจึงเรียกว่า “ปล้นทรัพย์”

รู้หรือไม่?! ยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรงได้ จะทำให้เรื่องถึงชั้นศาลได้เร็วขึ้น
JusThat ค่าบริการปรึกษาเริ่มต้น 1,500 บาท บริการส่งฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา

  1. แอดไลน์ @justhatapp
  2. เริ่มต้นทำแบบประเมิน
  3. หากต้องการ ส่งฟ้องได้ทันที
Line-Chat-Portrait

ลักทรัพย์
มีโทษยังไง

การลักทรัพย์ถือเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา คนทำผิดมีทั้งความผิดทางอาญา และต้องรับผิดทางแพ่งด้วย โดยที่อัยการจะสามารถเรียกร้องให้เอาของมาคืน หรือขอให้จ่ายเงินแทนค่าของที่เอาไปได้ หรืออาจต้องจ่ายค่าเสียหายเพิ่มด้วยถ้าผู้เสียหายฟ้องคดีแพ่งเอง     

การลักทรัพย์ถือเป็นอาญาแผ่นดิน มีโทษทั้งจำคุกและปรับ ซึ่งความผิดแต่ละข้อก็มีโทษหนักเบาแตกต่างกัน ตามความร้ายแรงที่คนผิดทำลงไป

  • โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท สำหรับการลักทรัพย์ธรรมดา ทั่วไป
  • โทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท สำหรับการลักทรัพย์โดยมีเหตุฉกรรจ์ 1 ข้อ
  • โทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 7 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 140,000 บาท สำหรับการลักทรัพย์โดยมีเหตุฉกรรจ์ตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป
  • โทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท สำหรับการลักทรัพย์ที่เป็นเครื่องมือทำการเกษตร วัว หรือควายที่เอาไว้ทำการเกษตร  หรือพระพุทธรูป วัตถุทางศาสนาและของที่เก็บไว้สมบัติของชาติ 
  • โทษจำคุกตั้งแต่ 5 – 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 300,000 บาท สำหรับการขโมยพระพุทธรูป วัตถุทางศาสนาและของที่เก็บไว้เป็นสมบัติของชาติ ในบริเวณวัด สำนักสงฆ์ สถานที่เคารพทางศาสนา โบราณสถาน สถานที่ราชการ หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
  • รับโทษหนักมากขึ้นอีกครึ่งหนึ่งจากโทษที่มีอยู่ ถ้าเป็นการลักทรัพย์โดยแต่งเครื่องแบบ หรือชุดที่ทำให้คนเข้าใจว่าเป็นตำรวจทหาร หรือมีปืน ระเบิด หรือมีรถไว้ใช้ขนของหรือหลบหนี

ขโมยเพราะยากจนไม่มีกินจริง ๆ หรือทำไปเพราะจำใจทำและราคาของที่ขโมยไปไม่ได้แพงมาก แม้จะมีความผิดตามข้อกำหนด 12 ข้อ แต่ศาลอาจตัดสินให้รับโทษในฐานลักทรัพย์ธรรมดาตามมาตรา 334 ก็ได้ เพราะเขาทำไปด้วยเหตุจำเป็นต่อชีวิต เช่น คนไม่มีเงินขโมยกล้วย 1 หวีที่วางไว้ในบ้านคนอื่นเพราะอดข้าวมาหลายวันจนทนไม่ไหว หรือลูกจ้างไม่มีเงินกินข้าวเลยขโมยขนมนายจ้างกินแค่พออิ่ม เป็นต้น

ลักทรัพย์
ยอมความไม่ได้

การลักทรัพย์ถือเป็นอาญาแผ่นดิน ถึงจะมีการตกลงจ่ายเงินค่าของให้ หรือเอาของมาคืนแล้วเจ้าของไม่ติดใจเอาความ ตำรวจก็ต้องดำเนินคดีเพื่อส่งให้อัยการฟ้องศาลต่อไป 

ถ้าใครคิดจะขโมยของคนอื่นก็ต้องคิดให้ดี เพราะคดีลักทรัพย์มีอายุความที่นาน ถ้าทำผิดแล้วคิดจะหนีก็ต้องหนีอย่างน้อย 10 ปี และการขโมยของคนอื่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ เพราะนอกจากตัวเองจะเดือดร้อนแล้ว คนอื่นก็จะได้รับความเดือดร้อนจากการถูกขโมยเช่นกัน

  • อายุความ 10 ปี สำหรับคดีลักทรัพย์ธรรมดา
  • อายุความ 15 ปี สำหรับความผิดที่ต้องจำคุกมากกว่า 7 ปีแต่ไม่ถึง 20 ปี
  • อายุความ 20 ปี สำหรับโทษจำคุก 20 ปี

ข้อหาลักทรัพย์ใครก็แจ้งความแทนได้ และตำรวจสามารถดำเนินคดีได้เลยทันที โดยไม่ต้องมีคนร้องทุกข์ก็ได้ เพราะการลักทรัพย์เป็นคดีที่ร้ายแรงและเป็นความผิดต่อสังคมโดยรวม

ลักทรัพย์
ไม่ทำ ไม่ผิด

เก็บเงินได้ระหว่างเดินกลับบ้าน เห็นแหวนเพชรตกอยู่กลางทาง หรือเห็นมีของวางอยู่บนโต๊ะ คิดว่าเป็นของหายเลยเก็บเอามา แต่สักพักก็เห็นเจ้าของเดินมาตามหา แต่ก็ไม่ยอมคืนให้เขา ถ้าทำแบบนี้มีความผิดฐานลักทรัพย์นะ  

หรือเห็นของในสำนักงานสวยดีอยากเก็บเอาไปไว้ที่บ้าน แบบนี้ทำไม่ได้นะเพราะเป็นการลักทรัพย์นายจ้าง นอกจากจะมีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญาแล้ว นายจ้างจะสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าหรือแม้แต่ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างด้วย    

แต่ถ้าเป็นการเลิกจ้างเพราะถูกใส่ความว่าลักทรัพย์นายจ้างแต่ความจริงไม่ได้ทำ ก็สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้ กรณีแบบนี้สามารถติดต่อขอคำปรึกษาจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือฟ้องศาลแรงงานด้วยตัวเองก็ทำได้เหมือนกัน

JusThat – รู้โอกาสแพ้ชนะ
ฟ้องแล้วคุ้ม? ภายใน 5 นาที

1

Bangkok, Thailand 
Line @justhatapp