คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา
คืออะไร
ถูกรถชนจนกระดูกหักต้องนอนโรงพยาบาล เจอคนขับรถปาดหน้าจนเกิดอุบัติเหตุ หรือมีคนมาขโมยของ ถูกฉ้อโกงจนได้รับความเดือดร้อน คนทำผิดต้องรับโทษทั้งทางแพ่งและอาญา เรียกว่า คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา
ใครก็ตามที่ทำผิดในข้อหาอาญาแล้วมีผลทำให้เกิดความเสียหายกับชีวิต ร่างกาย สุขภาพ เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิของคนอื่น คนนั้นจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหาย โดยที่ผู้เสียหายมีสิทธิ์ฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย ขอให้ชดใช้เป็นเงิน คืนเป็นของที่เอาไป หรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามสัญญา และมีสิทธิ์ดำเนินคดีอาญาไปพร้อม ๆ กันด้วย
การพิจารณาคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้มีการเรียกร้องทางแพ่งคู่ไปกับคดีอาญา เพื่อคุ้มครองผู้เสียหาย ไม่ให้เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีมากเกินไป ซึ่งถือเป็นการเยียวยาผู้เสียหายอีกทางหนึ่ง
เพราะการฟ้องคดีแพ่งต่างหากต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมา ผู้เสียหายที่ยากจนก็อาจมีต้นทุนไม่มากพอที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ไหนจะเจ็บตัว เจ็บใจ หรือสูญเสียบางอย่างไปแล้ว ยังต้องหาเงินเพื่อนำมาใช้ดำเนินคดีเพื่อให้ได้รับการชดใช้อีก จึงมีการนำคดีแพ่งมารวมพิจารณากับคดีอาญา เพื่อให้ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องเอาค่าเสียหายไปพร้อมกับการดำเนินคดีอาญาได้เลย
คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา
ต้องรับผิดทางแพ่งเพราะทำผิดอาญา
การทำผิดอาญาในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ไม่จำเป็นต้องเป็นความผิดต่อส่วนตัว ความผิดอาญาแผ่นดินก็เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาได้ ต้องรับโทษทางอาญาและชดใช้ให้ผู้เสียหายด้วย เช่น
1. ความผิดอาญาแผ่นดิน
นาย B ใช้มือฟาดไปที่ต้นคอและใช้ไม้ตีหัวนาง C จนแตก
คดีอาญา = ทำร้ายร่างกาย
คดีแพ่ง = ละเมิด
2. ความผิดต่อส่วนตัว
นาง A ทุบกระจกรถนาย P จนแตก เพราะโมโหที่โดนนาย P ต่อว่าที่จอดรถขวาง
คดีอาญา = ทำให้เสียทรัพย์
คดีแพ่ง = ละเมิด
คดีอาญาส่วนใหญ่ที่มีผู้เสียหายจะเป็นคดีละเมิดไปด้วยในตัว แต่ไม่ใช่ทุกคดีจะเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา เช่น พยายามปาหินใส่บ้านคนอื่นแต่กระจกไม่แตก เป็นความผิดฐานพยายามทำให้เสียทรัพย์ แต่ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง เพราะไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น แต่ถึงไม่ทำให้เกิดความเสียหายก็มีความผิดอาญา ต้องรับโทษ 2/3 ของความผิด เนื่องจากเป็นการพยายามทำให้คนอื่นได้รับความเดือดร้อน
คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา
แจ้งความได้ ฟ้องเองเร็ว
การดำเนินคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา เราจะแจ้งความดำเนินคดี หรือจะฟ้องศาลเองก็ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 ระบุวิธีการฟ้องไว้ว่า
“การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญา หรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง”
1. แจ้งความกับตำรวจ
จะเป็นการดำเนินการโดยตำรวจและอัยการ เราไม่ต้องดำเนินคดีเอง ค่าใช้จ่ายก็น้อยลง ถ้าจะเรียกค่าเสียหายก็ยื่นคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วม เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้
2. ฟ้องศาลเอง
โดยฟ้องศาลอาญาด้วยตัวเองและร้องขอค่าเสียหายในคดีแพ่งรวมไปด้วย หรือฟ้องแยกคดีอาญาต่างหาก ฟ้องคดีแพ่งต่างหากก็ทำได้เหมือนกัน
รู้หรือไม่?! ยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรงได้ จะทำให้เรื่องถึงชั้นศาลได้เร็วขึ้น
JusThat ค่าบริการปรึกษาเริ่มต้น 1,500 บาท บริการส่งฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา
- แอดไลน์ @justhatapp
- เริ่มต้นทำแบบประเมิน
- หากต้องการ ส่งฟ้องได้ทันที
ส่วนการพิจารณาคดีและการดำเนินการเพื่อเรียกค่าเสียหาย สิ่งของ หรือเงินค่าของคืนมา ต้องทำตามวิธีพิจารณาความแพ่ง เช่น ต้องทำคำให้การเป็นหนังสือ และคำให้การในคดีแพ่งต้องเป็นการให้การอย่างชัดเจน ถ้าปฎิเสธต้องมีเหตุผลรองรับ จะบอกว่าไม่ ไม่ใช่อย่างเดียวไม่ได้ ไม่งั้นจะเรียกว่า ปฎิเสธลอย ทำให้ไม่มีสิทธิ์นำพยานเข้าสืบ
ฟ้องไปแล้วจำเลยตายระหว่างพิจารณาคดี ความผิดทางอาญาจะหมดไป เพราะคนทำผิดตายไปแล้ว แต่การรับผิดทางแพ่งยังมีอยู่ ทายาทของผู้ตายจะเข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้ตายได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42
คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา
9 ข้อหาที่อัยการเรียกทรัพย์สินคืนให้ได้
เมื่อเราไปแจ้งความแล้ว ตำรวจก็จะดำเนินคดีเพื่อส่งให้อัยการฟ้องศาล แต่หลังจากแจ้งความแล้วบางคนก็อาจไม่ได้ติดตามผลคดีว่าเป็นยังไง แต่ไม่ต้องกังวลเพราะอัยการมีหน้าที่เรียกทรัพย์สินคืนให้ หรือเรียกร้องให้อีกฝั่งจ่ายเงินแทนราคาของให้ได้เท่าราคาของทรัพย์สิน แต่จะเรียกเงินค่าเสียหายอื่น ๆ และดอกเบี้ยแทนผู้เสียหายไม่ได้นะ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ซึ่งมีทั้งหมด 9 ข้อหา
- ลักทรัพย์
- วิ่งราวทรัพย์
- ชิงทรัพย์
- ปล้นทรัพย์
- โจรสลัด
- กรรโชก
- ฉ้อโกง
- ยักยอก
- รับของโจร
ตัวอย่างที่ 1 โจรขโมยทองไปแต่เอาไปขายแล้ว จะหาทองมาคืนก็ไม่ได้ เลยต้องให้จ่ายเงินตามราคาทอง เช่น ทองราคา 29,000 บาท ก็เรียกคืนได้ 29,000 บาท
ตัวอย่างที่ 2 นาง B ถูกรถชนตาย อัยการดำเนินคดีอาญาได้แต่เรียกร้องค่าเสียหายให้ไม่ได้ เพราะไม่อยู่ใน 9 ข้อหาที่อัยการมีหน้าที่เรียกแทน ดังนั้น ทายาทของนาง B ต้องเป็นคนยื่นคำขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในชั้นศาล เพื่อเรียกร้องให้มีการชดใช้ค่าเสียหายให้ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 44/1
- ผู้เสียหายมีสิทธิ์เรียกค่าเสียหาย
- ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องขอค่าเสียหาย
การยื่นคำร้องต้องยื่นก่อนเริ่มสืบพยาน แต่ถ้าไม่มีการสืบพยาน คือคดีที่จำเลยรับสารภาพ เราต้องยื่นคำร้องขอไปก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี ซึ่งจะมีผลให้เราเข้าไปโจทก์ในคดีแพ่ง และจะถือเอาคำร้องขอที่ยื่นไปเป็นคำฟ้องของเรา จึงต้องชี้แจงรายละเอียดความเสียหาย และจำนวนค่าเสียหายที่เรียกร้องให้ชัดเจน
คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา
รู้อายุความไม่พลาดการดำเนินคดี
คดีที่มีความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง จะมีการนับอายุความที่เกี่ยวเนื่องกัน เพื่อไม่ให้สิทธิในการเรียกร้องของผู้เสียหายหมดไปโดยไม่มีเหตุผลที่สมควร ซึ่งการนับอายุความคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญามีกำหนดไว้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51
- ถ้าฟ้องแพ่งโดยไม่มีใครฟ้องอาญา ให้นับอายุความตามคดีอาญา และในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์หรือผู้วิกลจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/20 ก็ต้องนับอายุความตามคดีอาญาเหมือนกัน
- ถ้ามีการฟ้องคดีอาญาแต่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด การนับอายุความทางแพ่งจะถูกหยุดเอาไว้ จะไม่ถูกนับในระหว่างที่มีการพิจารณาคดี
- ถ้ามีการฟ้องคดีอาญาและมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คดีแพ่งจะมีอายุความ 10 ปี ตามกำหนด อายุความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32
- ถ้ามีการฟ้องคดีอาญาและมีคำพิพากษายกฟ้องถึงที่สุดแล้ว จะนับอายุความตามกำหนด อายุความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 คือ ถ้าคนทำไม่มีความผิดอาญาต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวคนทำ หรือ 10 ปีนับจากวันทำการละเมิด แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายจากการทำผิดทางอาญา และอายุความทางอาญามีระยะเวลานานกว่า ให้เอาอายุความทางอาญามาใช้
คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา
ฟ้องเรียกค่าเสียหาย
ฟ้องเรียกค่าเสียหาย ดอกเบี้ย หรือค่าของคืนมา คู่ไปกับคดีอาญา หรือแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแพ่งแยกต่างหากก็ได้
- ขอให้คืนทรัพย์
- ขอให้ชดใช้ราคา
- ขอให้จ่ายค่าเสียหายอื่นที่เกิดจากการละเมิด
แต่การเรียกร้องทางแพ่งก็มีข้อจำกัด ไม่ใช่ว่าจะทำได้ทุกกรณีนะ เพราะ…
- ขอค่าเสียหายที่ไม่ได้เกิดจากการทำผิดอาญานั้น ๆ ไม่ได้
- ต้องไม่ขัดแย้งกับคำฟ้องในคดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์
ถ้าอัยการเรียกทรัพย์สินหรือเรียกราคาของแทนให้แล้ว ผู้เสียหายจะเรียกอีกไม่ได้ ให้สังเกตว่าคดีอาญามี 9 ข้อหาที่อัยการมีหน้าที่เรียกให้หรือเปล่า ถ้ามีเราก็ต้องติดตามคดีว่าเป็นยังไงต่อไป
JusThat – รู้โอกาสแพ้ชนะ
ฟ้องแล้วคุ้ม? ภายใน 5 นาที
Bangkok, Thailand
Line @justhatapp
Bangkok, Thailand
Line @justhatapp