1

JusThat

ละเมิดลิขสิทธิ์
ทำแบบไหนจึงจะถือว่าเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์

การสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาแต่ละชิ้นหรือแต่ละอย่างนั้น ต้องใช้ทั้งความรู้ความสามารถ ความอดทน การทุ่มเทเวลา การสั่งสมประสบการณ์ของผู้สร้างสรรค์เพื่อให้ได้ผลงานออกมา ดังนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เจ้าของผลงานหรือผู้สร้างสรรค์จะหวงลิขสิทธิ์ในผลงานของตนเอง เพราะผลงานใครใครก็รัก ผลงานใครใครก็หวง จึงต้องมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้สร้างสรรค์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์จากงานสร้างสรรค์นั้น ๆ 

ลิขสิทธิ์ ภาษาอังกฤษ Copyright คื ทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบหนึ่ง ที่ให้สิทธิ์เจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการที่จะทำการใด ๆ ก็ตามเกี่ยวกับงานสร้างสรรค์ที่ผู้สร้างสรรค์จัดทำขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำไปใช้ ทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน รวมทั้งสิทธิในการให้เช่า และสิทธิในการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิดังกล่าวได้ด้วย

เช่น นักวาดการ์ตูนอนุญาตให้ผู้อื่นนำผลงานตนเองไปใช้ประกอบโฆษณา นักเขียนนิยานอนุญาตให้ผู้อื่นนำงานเขียนไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ หรือนำไปสร้างเป็นภาพยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้เจ้าของลิขสิทธิ์ยังสามารถให้ประโยชน์ที่ได้จากลิขสิทธิ์กับผู้อื่นได้ด้วย

คดีละเมิดลิขสิทธิ์

ทำแบบไหนจึงจะเรียกว่าละเมิดลิขสิทธิ์

ตอนนี้เราทราบกันแล้วว่าผู้ที่มีสิทธิ์ใช้ประโยชน์จากงานสร้างสรรค์ที่มีลิขสิทธิ์ คือ เจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้น ดังนั้น การนำงานลิขสิทธิ์ของผู้อื่นไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็น

1. การละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง ( Primary Infringement )

  • ทำซ้ำ
  • ดัดแปลง
  • เผยแพร่ต่อสาธารณะชน 
  • ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์
  • จัดให้ประชาชนทั่วไปฟังหรือชมงานอันมีลิขสิทธิ์ โดยมีการเก็บเงินหรือเรียกผลประโยชน์อื่นในทางการค้า
  • บันทึกเสียงหรือภาพ หรือทั้ง 2 อย่างจากภาพยนต์ในโรงหนัง

เช่น A นำงานเขียนของ B ไปแปลโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก B 

หรือ C นำโปรแกรมที่ D เคยเขียนไปแก้ไขดัดแปลงโดยที่ D ไม่รู้เรื่องและไม่ได้อนุญาต

2. ละเมิดลิขสิทธิ์โดยอ้อม ( Secondary Infringement ) คือ คนทำไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยตัวเอง แต่สนับสนุนให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ ว่ากันง่าย ๆ ก็คือ รู้อยู่แล้วว่างานนั้นเกิดจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ก็ยังใช้ประโยชน์จากงานนั้นอยู่ดี

  • มีงานละเมิดลิขสิทธิ์ไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือเสนอให้เช่าซื้อ 
  • เผยแพร่งานละเมิดลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชน
  • แจกจ่ายงานละเมิดลิขสิทธิ์ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธ์ิ
  • นำเข้ามาหรือสั่งงานละเมิดลิขสิทธิ์เข้ามาในประเทศ
 

เช่น O สั่งกระเป๋าละเมิดลิขสิทธิ์มาขาย หรือ M ขายนิยายละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นต้น

ทำแบบไหนคือการละเมิดลิขสิทธิ์ ละเมิดลิขสิทธิ์มีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา

ละเมิดลิขสิทธิ์
ผลงานสร้างสรรค์ 9 ประเภทที่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์

งานลิขสิทธิ์ 9 ประเภท

  1. งานวรรณกรรม ได้แก่ หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ คำปราศรัย โปรแกรมคอมพิวเตอร์
  2. งานนาฏกรรม ได้แก่ งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว การแสดงโดยวิธีใบ้
  3. งานศิลปกรรม ได้แก่ งานจิตรกรรม งานประติมากรรม ภาพพิมพ์งานสถาปัตยกรรม ภาพถ่าย ภาพประกอบ หรืองานสร้างสรรค์รูปทรงสามมิติเกี่ยวกับภูมิประเทศหรือวิทยาศาสตร์ งานศิลปประยุกต์ ซึ่งรวมถึงภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าวด้วย
  4. งานดนตรีกรรม ได้แก่ คำร้อง ทำนอง การเรียบเรียงเสียงประสานรวมถึงโน้ตเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว
  5. งานโสตทัศนวัสดุ ได้แก่ วีดีโอเทป แผ่นเลเซอร์ดิสที่บันทึกข้อมูลซึ่งประกอบด้วยลำดับของภาพหรือภาพและเสียงอันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีก
  6. งานภาพยนตร์ ได้แก่ ภาพยนตร์ รวมทั้งเสียงประกอบของภาพยนตร์นั้นด้วย
  7. งานสิ่งบันทึกเสียง ได้แก่ เทปเพลง แผ่นคอมแพ็คดิสก์ที่บันทึกข้อมูลเสียง  (ไม่รวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์ หรือเสียงประกอบโสตทัศนวัสดุอย่างอื่น)
  8. งานแพร่เสียงแพร่ภาพ ได้แก่ การกระจายเสียงทางวิทยุ หรือการแพร่เสียงหรือภาพทางสถานีโทรทัศน์
  9. งานอื่นใดอันเป็นงานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ

ละเมิดลิขสิทธิ์
แม้ไม่ได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์ไว้ ก็ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

รู้หรือไม่ ทันทีที่คุณสร้างสรรค์งานสร้างสรรค์ 9 ประเภทที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ขึ้นมา ลิขสิทธิ์ในผลงานนั้นจะเป็นของคุณทันทีโดยไม่ต้องไปจดทะเบียนใด ๆ เลย แต่ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะผู้สร้างสรรค์ผลงานเท่านั้นนะ เพราะคนอื่นก็สามารถเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์ได้เหมือนกัน โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้

เมื่อหมดอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์แล้ว งานสร้างสรรค์นั้นก็เป็นทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะ ( Public Domain ) ซึ่งใครก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือจ่ายค่าตอบแทนให้เจ้าของลิขสิทธิ์อีก 

ทั้งนี้แม้ลิขสิทธิ์ให้การคุ้มครองทันทีโดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียน แต่ถ้าคุณต้องการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์ทางปัญญาก็สามารถทำได้นะ ซึ่งเป็นข้อดีในกรณีที่มีคนต้องการใช้ผลงานและไม่รู้ว่าเจ้าของผลงานคือใคร เขาสามารถไปสืบค้นข้อมูลเจ้าของผลงานจากฐานข้อมูลของกรมทรัพย์ทางปัญญาได้เลย

ละเมิดลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งทางแพ่งและอาญา

โทษทางอาญา

  • สำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง คนทำความผิดจะได้รับโทษปรับตั้งแต่ 20,000บาท ถึง 200,000 บาท แต่ถ้าทำเพื่อการค้าจะได้รับโทษมากขึ้นไปอีก คือ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
  • บันทึกเสียงหรือภาพ หรือทั้งภาพและเสียง อย่างจากภาพยนต์ในโรงหนัง โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
  • สำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์โดยอ้อม คนทำความผิดจะได้รับโทษปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท แต่ถ้าทำเพื่อการค้าจะได้รับโทษมากขึ้นไปอีก คือ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เนื่องจากคดีละเมิดลิขสิทธิ์เป็นความผิดต่อส่วนตัว จึงต้องฟ้องศาลภายใน 3 เดือนนับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด หรือแจ้งความดำเนินคดีภายใน 3 เดือนนับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96 

หากแจ้งความไว้แล้วคดีไม่คืบหน้า และต้องการยื่นฟ้องคดีอาญาด้วยตัวเองก็จะต้องดูอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95

โทษทางแพ่ง

เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถฟ้องคดีแพ่งต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์คุณได้ด้วย โดยยื่นฟ้องผู้ละเมิดภายใน 3 ปีนับตั้งแต่วันที่เจ้าของลิขสิทธิ์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ทำละเมิด แต่ต้องไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์

อย่างไรก็ตามการดำเนินคดีอาญาฐานละเมิดลิขสิทธิ์ นอกจากจะต้องพิจารณาว่าเจ้าของลิขสิทธิ์ได้อนุญาตหรือไม่ ก็ยังมีเรื่องเจ้าของ “เจตนา” ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้กระทำผิดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตามหลักกฎหมายอาญาทั่วไปที่วางหลักไว้ว่าผู้นั้นทำความผิดโดตเจตนาหรือไม่เจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ส่วนของการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งก็จะต้องพิจารณาจากความเสียหายที่เกิดจากการสูญเสียโอกาสที่จะได้รับผลกำไรจากการโดนละเมิดลิขสิทธิ์นั้น

นอกจากนี้พยานหลักฐานที่ใช้จะต้องมีความรัดกุม เนื่องจากคดีลิขสิทธิ์เป็นคดีที่ละเอียดอ่อน ต้องมีการสืบพิสูจน์หลายอย่าง เช่น อายุคุ้มครองลิขสิทธิ์ สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาตั้งแต่วันไหน ใครคือเจ้าของลิขสิทธิ์ มีการละเมิดลิขสิทธิ์กันยังไง เจ้าของลิขสิทธิ์จึงควรเก็บ รวบรวม รักษาหลักฐานต่าง ๆ ที่แสดงว่าตัวเองเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา เช่น ไฟล์งานต้นฉบับ หรือเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยชอบธรรม เช่น สัญญาจ้างทำของ หลักฐานการส่งมอบงาน หลักฐานโอนกรรมสิทธิ์ เป็นต้น เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์สิทธิ หรือความเป็นเจ้าของในกรณีที่เกิดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้นนั่นเอง

จะเห็นได้ว่า?! คดีลักษณะนี้มีความซับซ้อน
เราแนะนำให้เลือกใช้ทนายความที่มีประสบการณ์
หมดกังวลปัญหาทนายความทิ้งคดี
เช็คค่าใช้จ่ายได้ตั้งแต่ต้นจนจบโดย JusThat 

  1. แอดไลน์ @justhatapp
  2. ส่งหลักฐานให้ทนายความ
  3. เช็คแนวทางและค่าใช้จ่ายฟรี!
Line-Chat-Portrait

JusThat – รู้โอกาสแพ้ชนะ
ฟ้องแล้วคุ้ม? ภายใน 5 นาที

1

Bangkok, Thailand 
Line @justhatapp